4 เทคนิค วิธีการตรวจเช็คผ้าเบรก

4 เทคนิค วิธีการตรวจเช็คผ้าเบรก

          วันนี้แอดก็มีทริคเล็กๆน้อยเกี่ยวกับ “4 เทคนิค วิธีการตรวจเช็คผ้าเบรก” แบบง่ายๆมาให้เพื่อนๆ ชาวสองล้อทุกท่าน สามารถตรวจเช็คสภาพเบรกได้ด้วยตัวเอง ให้รถที่เรารักอยู่ในสภาพที่พร้อมรับมือกับทุกๆเหตุการณ์ ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ได้อยู่กับรถที่เรารักไปด้วยกันนานๆนะครับ

วิธีที่ 1 สังเกตด้วยตาเปล่า
การมองความหนาผ้าเบรกด้วยสายตานั้น ในรถบางรุ่น คาลิปเปอร์อาจไม่อยู่ในมุมที่เราจะมองเห็นความหนาผ้าเบรก หรือถ้ามองเห็นก็เล็กมาก บางทีอาจต้องใช้ไฟฉายส่องช่วยด้วยนะครับ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นมากที่เพื่อนๆ ควรจะก้มดูและเช็คความหนากันบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเตรียมตัวออกทริปใหญ่ค้างคืนตามต่างจังหวัด ถือเป็นการเช็คความพร้อมของรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานทางไกลสูงสุดครับ

วิธีที่ 2 เช็คจากเกจ์วัดกระปุกน้ำมันเบรก
สำหรับการเช็คว่าผ้าเบรกหมดหรือไม่ จากกระปุกน้ำมันเบรกนั้น เป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่าย และรวดเร็วครับ นั่นเพราะว่าหลักการของคาลิปเปอร์ในการดันผ้าเบรกให้บีบกับจานนั้น จะต้องอาศัยน้ำมันเบรกเป็นตัวช่วยดันลูกสูบเวลาที่เราบีบก้านเบรก ซึ่งหากผ้าเบรกบางลง หรือเหลือน้อย น้ำมันเบรกจะต้องเข้าไปแทนที่ในส่วนของเนื้อผ้าเบรกที่หายไป เพื่อให้การเบรคยังมีประสิทธิภาพเท่าเดิม นั่นเป็นเหตุผลให้น้ำมันเบรกเมื่อเราส่องจากกระปุกด้านบน จะพบว่าน้ำมันเบรกมีปริมาณลดลงเมื่อผ้าเบรกใกล้หมดนะครับ

วิธีที่ 3 ลองฟังเสียงขณะเบรก
ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์แต่ละท่านจะสามารถตรวจสอบผ้าเบรกด้วยวิธีการข้างต้นได้ แต่กลับพบว่าหลายๆ ครั้งลูกค้าที่เข้ามาเปลี่ยนผ้าเบรก เกิดจากได้ยินเสียงขณะเบรกรถ อันเนื่องมาจากเนื้อผ้าเบรกหมดเกลี้ยงแล้วทำให้แผ่นเหล็กที่เป็นตัวยึดเนื้อผ้าเบรกมาเสียดสีกับจานเบรก ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าอันตรายมากหากผู้ใช้รถยังคงฝืนขี่ต่อไป เพราะแผ่นเหล็กที่ไว้ยึดผ้าเบรกนั้นไม่ได้ออกแบบสำหรับมาเสียดสีกับจานเบรกครับ ทำให้ทุกครั้งที่เราเบรก เหล็กกับเหล็กจะเสียดสีกัน ทำให้จานเบรกสึกหรอ (หรือที่ใครๆ เรียกกันว่ากินจาน) จานอาจจะคดงอทำให้ไม่สามารถใช้การได้อีก และ เกิดความร้อนสูงสะสมซึ่งอาจส่งผลให้น้ำมันเบรกเดือดเกิดอากาศในระบบ ทำให้เบรกจมหายไปแต่รถไม่ชะลอ หรือที่เรียกกันว่าเบรกแตก นะครับ

วิธีที่ 4 จับสัมผัสประสิทธิภาพของการเบรก
การจับสัมผัสประสิทธิภาพการเบรกของรถของเราเอง ว่ามันลดลงหรือไม่ แค่ไหน มีระยะเบรกเพิ่มขึ้น ต้องบีบก้านเบรกลึกขึ้นหรือไม่ และมีอาการสั่น หรือเสียงกระพรือ ยามที่เราบีบเบรกหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะยากสักหน่อย เนื่องจาก รถที่เราใช้จนติดเป็นความเคยชินนั้น ระบบเบรกและระยะเบรกที่ลดประสิทธิภาพลงทุกครั้งที่เราใช้งาน แต่ตัวผู้ขับขี่ก็จะชินกับระยะและสัมผัสการเบรกที่ค่อยๆ ด้อยลงทีละน้อยๆ จนลืมนึกถึงสัมผัสการเบรกที่มีประสิทธิภาพในตอนแรกไป

          เป็นไงละครับเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆที่แอดได้นำมาฝากกันวันนี้ “ผ้าเบรก” สำคัญมากๆนะครับ สำหรับตัวรถและตัวเราเอง อย่าลืมหมั่นตรวจสอบอยู่บ่อยๆ และเลือกผ้าเบรกที่เหมาะกับการใช้งานด้วยนะครับ เพื่อตัวคุณเองและรถที่คุณรัก  หรือถ้าไม่แน่ใจ สามารถนำรถไปให้ทางศูนย์บริการช่วยตรวจเช็คก็ได้นะ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ


Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *