โรคอะไรบ้างไม่ควรขับขี่รถ

โรคอะไรบ้างไม่ควรขับขี่รถ

แม้ว่าโรคและปัญหาสุขภาพบางประการไม่ได้เป็นข้อห้ามของการทำใบขับขี่ แต่ต้องยอมรับว่า บางโรคหากเกิดอาการกำเริบขึ้น ก็มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการขับขี่ และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน โดยเรื่องนี้ได้มีการรับรองจากทางโรงพยาบาลและแพทย์เฉพาะทาง และได้เผยข้อมูลให้ทราบกันว่า 9 โรคและปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการขับขี่ได้ นั่นคือ

          1.โรคที่เกี่ยวกับสายตาเช่น ต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม โดยผู้ที่จอประสาทตาเสื่อมจะมองเห็นเส้นทางในช่วงเวลากลางคืนไม่ชัดเจน ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน ต้อกระจก จะมีมุมในการมองเห็นแคบและมองเห็นแสงไฟพร่ามัวจึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงเวลากลางคืน หรือเส้นทางที่มีทัศนวิสัยไม่ดี

2. โรคทางสมองที่ยังเป็นไม่มากแต่ก็ทำให้มีอาการหลงลืม จดจำเส้นทางไม่ได้ ทำให้ตัดสินใจช้า สมาธิไม่ดีนัก และอาจเกิดปัญหาขับรถหลงทางในบางครั้ง เช่น โรคสมองเสื่อมที่มักพบในผู้สูงอายุ

3. โรคหลอดเลือดสมองอัมพฤกษ์ กล้ามเนื้ออ่อนแรง จะทำให้แขนไม่มีแรงในการบังคับแฮนด์มอเตอร์ไซค์หรือกำเบรกมือ  และอาจเกิดปัญหาขากระตุก ไม่มีแรงขณะเหยียบเบรก ส่งผลต่อการขับขี่ และทำให้ความไวต่อการตอบสนองเหตุการณ์ต่าง ๆ ลดลง เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์และรักษาอาการของโรคให้หายเป็นปกติก่อนกลับมาขับรถ

4. โรคพาร์กินสัน จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการมือสั่น เท้าสั่น เกร็ง ทำอะไรได้ช้า ขับรถได้ไม่ดี กรณีอาการรุนแรงจะทำให้เกิดภาพหลอน หากขับรถจะก่อให้เกิดอันตรายได้

          5. โรคลมชัก หากอาการกำเริบขึ้นจะมีอาการชัก เกร็งกระตุก ไม่รู้สึกตัว หมดสติ เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ทางรอบข้าง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการขับรถด้วยตนเอง หากจำเป็นต้องขับรถ ต้องไม่มีอาการชักอย่างน้อย 6 เดือน ควรมีเพื่อนร่วมทางไปด้วย และเมื่อมีอาการเตือนของโรคลมชัก ให้จอดรถริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากการชักขณะขับรถ ควรเว้นระยะในการขับรถและต้องไม่มีอาการชักอย่างน้อย 1-2 ปี จึงสามารถกลับมาขับรถได้อีกครั้ง

6. โรคข้อเสื่อมข้ออักเสบ หากมีอาการปวดบริเวณต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า ก็ทำให้เหยียบเบรก เปลี่ยนเกียร์ ได้ไม่เต็มที่ ขยับร่างกายลำบาก หรือถ้ากระดูกคอเสื่อม ก็ทำให้หันคอ หันหน้าดูการจราจรได้ลำบาก รวมถึงไม่สามารถนั่งขับรถเป็นเวลานานได้ เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถระยะทางไกลเป็นเวลานาน ไม่ขับรถผ่านเส้นทางที่มีสภาพการจราจรติดขัด

          7. โรคหัวใจ หากมีอาการเครียดมาก ๆ เกิดขึ้นจากสภาพการจราจรที่ติดขัด อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้ เพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถตามลำพัง และนำยาติดตัวไว้เสมอ รวมถึงควรจอดรถพักเป็นระยะ เพื่อป้องกันภาวะเครียดสะสม ทำให้โรคหัวใจกำเริบ

8. โรคเบาหวาน หากระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ สายตาพร่ามัว เหงื่อออกมาก ใจสั่น และหมดสติ หากอาการไม่รุนแรงยังสามารถขับรถได้ แต่หากอาการรุนแรง ห้ามขับรถโดยเด็ดขาด หากจำเป็นต้องขับรถควรเตรียมอาหาร ลูกอม น้ำหวานไว้รับประทาน เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้หมดสติ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ

9. นอกจากนี้ หากผู้ป่วยโรคใด ๆ ก็ตามที่ทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ง่วงซึมก็ควรหลีกเลี่ยงการขับรถเช่นกัน เพราะเมื่อไปขับรถจะเกิดอาการมึนงง หลับใน ตัดสินใจช้า ตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้ช้า ดังนั้นจึงมีคำแนะนำให้นอนพักผ่อนหลังทานยาประเภทนี้

          แล้วรู้ไหมว่าปัจจุบันนี้ กฎหมายกำหนดโรคต้องห้ามในการขับขี่ยานพาหนะเพียงแค่ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่ รังเกียจ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต และไม่ติดสุรา ยาเสพติด ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ ทางกรมการขนส่งทางบกและแพทยสภา จึงกำลังพิจารณาเสนอโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถโดยตรง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนท้องถนน คือ

1. โรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ทั้งมือ เท้า ความพิการ

2. โรคระบบการมองเห็น เช่น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว

3. โรคระบบการได้ยิน

4. โรคหัวใจและโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ประวัติการผ่าตัด เป็นต้น

ใครที่รู้ตัวว่าตัวเอง หรือคนรอบข้างมีลักษณะอาการหรือโรคต่อไปนี้อยู่ก็ขอให้หลีกเลี่ยงการขับรถ โดยเลือกใช้รถโดยสารสาธารณะ หรือไหว้วานให้คนอื่นขับรถให้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด นอกจากปกป้องชีวิตตัวเองแล้ว ยังป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียขึ้นกับบุคคลอื่นที่ใช้ถนนร่วมกันด้วยนะครับ