IMU ในรถมอเตอร์ไซค์ คืออะไร?

IMU ในรถมอเตอร์ไซค์ คืออะไร?

รถมอเตอร์ไซค์ในตลาดปัจจุบันนั้นมีมากมายหลากหลายรุ่น หลายยี่ห้อ โดยแต่ล่ะผู้ผลิตก็เริ่มให้ความสนใจและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่เป็นหลัก โดยการใส่ระบบช่วยเหลือและป้องกันความผิดพลาดของการทำงานไม่ว่าจะเป็นระบบ Traction Control, Launch Control, Wheelie Control หรือแม้กระทั้ง Cornering ABS ซึ่งหลายๆ ระบบที่เรากล่าวมานี้จะมีกุญแจสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพการทำงานก็คือแกน IMU ซึ่งวันนี้ทีมงาน RealTime จะพาเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจกับเจ้าแกน IMU กันครับ

    IMU หรือ Inertial Measurement Unit เป็นอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการตรวจวัดความเคลื่อนไหวภายใน มีหน้าที่รายงานค่าความเปลี่ยนแปลงหรือการขยับของวัตถุตามแนวทางการเคลื่อนไหวปกติ ซึ่งในวัตถุหรือรถมอเตอร์ไซค์นั้นจะมีแนวทางการเคลื่อนไหวเพียงหนึ่งแนวทางก็คือแนวนอนขนานไปกับแกนโลก โดยจะมีการขับเคลื่อนบนชิ้นส่วนเดียวที่สัมผัสกับพื้นผิวก็คือยางหน้าและหลัง

แกน IMU ในรถมอเตอร์ไซค์ 

เดิมทีเจ้าแกน IMU นี้ถูกใช้งานในนวัตกรรมของกระสวยอวกาศ โดยมีขนาดที่ใหญ่โตเพื่อการตรวจวัดการเคลื่อนไหวแบบไร้แรงโน้มถ่วงจากอวกาศ เพื่อให้ควบคุมตัวกระสวยอวกาศไปยังทิศทางที่ถูกต้องและสามารถแจ้งเตือนลูกเรือได้หากมีการขยับตัวออกนอกเส้นทาง ซึ่งนวัตกรรมนี้ก็ถูกพัฒนาและย่อส่วนลงมาเรื่อยๆ จากกระสวยอวกาศ ลงไปสู่เครื่องบินโดยสาร เครื่องบินขับไล่ รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ในที่สุด

    หลักการทำงานของแกน IMU ในรถมอเตอร์ไซค์นั้น จะมีการติดตั้งระบบเซนเซอร์ที่มีชื่อว่า Seismic Masses ตรงบริเวณสปริงของระบบกันสะเทือนหน้า โดยจะทำหน้าที่ในการวัดความเร็วในการเคลื่อนที่และทำงานร่วมกับแกน IMU ในการคำนวณองศาของการเคลื่อนที่ โดยจะส่งผลไปยังกล่องสมองกลเพื่อทำการคำนวณอัตราการบีบตัวและสั่งการการทำงานของระบบต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นการสั่งการระบบ Cornering ABS จากค่าที่เซนเซอร์ Seismic Masses วัดได้ส่งไปยังสมองกลเพื่อคำนวณหาอัตราแรงในการจับปล่อยดิสก์เบรก ตามองศาของตัวรถที่กำลังเอียง ซึ่งหากไม่มีการติดตั้งเซนเซอร์และแกน IMU แล้ว ระบบ ABS จะทำงานในการจับปล่อยจานดิสก์เบรก ตามแรงปกติที่เรากดลงไป แต่หากมีการติดตั้งระบบจะทำการคำนวณแรงมากที่สุดในการกดและกำหนดแรงใหม่ให้สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ในแนวเอียง เพื่อรักษาเสถียรภาพในการเคลื่อนที่ไม่ให้มีอาการสะดุด

    เช่นเดียวกับระบบ Wheelie Control หรือระบบป้องกันล้อยกตัว ก็จะมีเซนเซอร์ตัวเดียวกันนี้ในการวัดระดับและส่งผลไปยังสมองกลเพื่อสั่งการเครื่องยนต์ให้ส่งแรงผลักจากด้านหลังหรือแรงกดที่ด้านหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ล้อหน้ายกตัว ส่วนระบบ Traction Control หรือระบบป้องกันล้อหมุนฟรีนั้นก็จะให้หลักการคล้ายๆ กันนี้ โดยมีการติดตั้งเซนเซอร์ที่วงล้อทั้งหน้าและหลัง เพื่อวัดความเร็วในการหมุน และมีแกน IMU ควบคู่ในการคำนวณองศาปัจจุบันของตัวรถที่กำลังแยงอยู่ โดยจะส่งผลจากการวัดค่าทั้งหลายไปยังสมองกลเพื่อสั่งการเครื่องยนต์ให้ส่งพละกำลังที่สอดคล้องกับการทำงานและค่าที่วัดได้

    ปัจจุบันมีการพัฒนาแกน IMU ไปมากมายทั้งแบบที่มีจำนวนของแกนที่มากขึ้น เพื่อให้ความละเอียดในการปรับค่าและ IMU ก็มีส่วนในการพัฒนาระบบความปลอดภัยใหม่ๆในรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งแน่นอนว่าเจ้าแกน IMU นี้ดูจะมีบทบาทในโลกมอเตอร์ไซค์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2019 ที่กำลังจะมาถึงนี้ Ducati จะเป็นเจ้าแรกของค่ายผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ที่จะใส่ระบบ Cornering ABS เข้าไปในรถทุกรุ่นที่จะผลิตใหม่ในปี 2019 ทั้งหมดเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ และค่ายผู้ผลิตอื่นๆ ก็เริ่มเล็งเห็นถึงความปลอดภัยของผู้ขับขี่มากขึ้นโดยจะเริ่มใส่แกน IMU นี้ในรถระดับ Middle Class เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย แล้วพบกับความรู้ดีๆได้ใหม่ในScoopหน้านะครับ

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *