ความหมายของ สีป้ายทะเบียนรถยนต์

ความหมายของ สีป้ายทะเบียนรถยนต์

ป้ายทะเบียนรถยนต์ เป็นสิ่งที่ช่วยระบุตัวตนของรถ ซึ่งนอกจากตัวอักษร และตัวเลขบนป้ายทะเบียนแล้ว ยังมีการแบ่งประเภทของรถยนต์ด้วยสีของป้ายทะเบียน ดังนี้

1.ป้ายสีขาวสะท้อนแสงตัวหนังสือสีดำ คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น รถเก๋ง และรถยนต์ทั่วไป ซึ่งเป็นป้ายทะเบียนที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด

2.ป้ายสีขาวสะท้อนแสงตัวหนังสือสีเขียว คือ รถบรรทุกส่วนบุคคล เช่น รถกระบะ หรือ รถบรรทุกขนาดเล็ก แต่สำหรับรถกระบะบางคันที่เป็นป้ายตัวหนังสือสีดำนั้น หมายความว่า จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หากใช้ในการบรรทุกเมื่อไหร่ จะถือว่าผิดกฎหมายทันที

3.ป้ายสีขาวสะท้อนแสงตัวหนังสือสีน้ำเงิน คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่มีที่นั่งมากกว่า 7 ที่นั่ง เช่น รถตู้

4.ป้ายสีแดงตัวหนังสือสีดำ คือ ป้ายที่ออกให้ชั่วคราว เพื่อบ่งบอกว่ารถยนต์คันนี้ยังไม่ได้การรับรองด้วยการจดทะเบียนตามกฎหมาย ซึ่งรถคันดังกล่าวสามารถใช้งานบนถนนได้ชั่วคราว แต่ต้องอยู่ในข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก

5.ป้ายทะเบียนที่มีพื้นหลังเป็นลายกราฟฟิก คือ ป้ายทะเบียนที่มีการประมูลตัวเลขชุดพิเศษ

6.ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสงตัวหนังสือสีดำคือ รถจักรยานยนต์ และ รถยนต์รับจ้าง ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน เช่น Taxi หรือ มอเตอร์ไซค์วิน

7.ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสงตัวหนังสือสีแดง คือ รถยนต์รับจ้างระหว่างจังหวัด

8.ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสงตัวหนังสือสีน้ำเงิน คือ รถยนต์เล็ก 4 ล้อรับจ้าง เช่น รถกระป๊อ

9.ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสงตัวหนังสือสีเขียวคือ รถ 3 ล้อรับจ้าง เช่น รถตุ๊กๆ

10.ป้ายสีเขียวสะท้อนแสงตัวหนังสือสีดำ/สีขาว คือ รถบริการทัศนาจร และรถบริการให้เช่า เช่น รถลิมูซีนสนามบิน

11.ป้ายสีส้มสะท้อนแสงตัวหนังสือสีดำ คือ รถบรรทุกพ่วง รถแทรกเตอร์ และรถที่ใช้ในทางเกษตรกรรม

12.ป้ายสีขาว (ไม่สะท้อนแสง) ตัวหนังสือสีดำ คือ รถยนต์ของผู้แทนทางการทูต จะขึ้นต้นด้วย ท และตามด้วยรหัสประเทศ ขีด แล้วตามด้วยเลขทะเบียนรถ

 

13.ป้ายสีฟ้า (ไม่สะท้อนแสง) ตัวหนังสือสีขาว แบ่งได้ 3 หมวดได้แก่

อักษร พ คือ หน่วยงานพิเศษในสถานทูต

อักษร ก คือ คณะผู้แทนกงสุล

อักษร อ คือ องค์กรระหว่างประเทศ

ป้ายทะเบียนรถมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้รถที่ตามถนนได้บ่งบอกถึงหน้าที่ของผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้รถทุกท่านควรปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดด้วย