ข้อเท็จจริง! ไฟแนนซ์สามารถยึดรถเราได้หรือไม่ ?

ข้อเท็จจริง! ไฟแนนซ์สามารถยึดรถเราได้หรือไม่ ?

          การไม่ได้ผ่อนชำรถค่างวดแม้สักเดือน ถือเป็นเรื่องที่ผิดชำระ แต่อาจจะยังไม่ถึงกับต้องโดนยึดรถ เรามาไขข้อข้องใจไปพร้อมๆ กันกับ Real time Car Magazine ครับ

          ในเรื่องของการซื้อรถทุกชนิด จะมีเรื่องของสัญญาเช่าซื้อ และกรรมสิทธิ์จะยังไม่โอนไปยังผู้เช่าซื้อ จนกว่าจะผ่อนชำระหมด ซึ่งรถคันดังกล่าวจะยังเป็นของไฟแนนซ์อยู่ ซึ่งเขาสามารถบอกยกเลิกสัญญาเราได้ รายละเอียดดังนี้

  1.           นำรถไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ออกเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลแต่นำไปใช้ขับสาธารณะ เช่น การขับ grap หรือการขนส่งโดยสารโดยไม่มีป้ายเหลือง รวมไปถึงการกระทำผิดที่ผิดกฎหมาย เช่น ขนส่งค้ายา เป็นต้น ไฟแนนซ์สามารถยึดรถได้ทันที
  2.           ไม่ว่าจะรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ หากค้างค่าเช่า 3 งวดติดกัน ไฟแนนซ์จะส่งจดหมายไปให้ชำระภายในเวลากำหนดอีก 30 วัน (รวมแล้วเป็น 4 เดือน) หากไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจดหมายนี้คือจดหมายบอกเลิกสัญญา และไฟแนนซ์มีสิทธิ์ยึดรถคืน
  3.           หากไฟแนนซ์ตามยึดรถคืน แล้วเราไม่ยินยอมก็ไม่มีความผิดอะไร เพราะเป็นเรื่องของการผิดสัญญาทางแพ่ง ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ยึด แต่ถ้าไฟแนนซ์มีการข่มขู่ คุกคาม จะเป็นความผิดอีกฐานหนึ่ง ซึ่งกลุ่มไฟแนนซ์อยู่ในฐานะของผู้ประกอบการตาม พรบ.ทวงหนี้ การที่จะมาทวงหนี้ต้องมาทวงด้วยความสุภาพ โวกเวกโวยวายไม่ได้ (มีโทษจำคุก 5 ปี) แต่ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์ของเราด้วยว่าถ้าหากไฟแนนซ์เข้ามาด้วยความสุภาพก่อน แสดงตัวตน แสดงเอกสาร แสดงบัตร แล้วคุณยังหนี อันนี้เขาย่อมมีสิทธิ์ที่จะขวางคุณได้ด้วย แต่ผู้เช่าซื้อจะอ้างได้ว่า ไฟแนนซ์มากันหลายคน ดูน่ากลัว และคุกคาม เข้ามารุมทำให้ตกใจ ผู้เช่าซื้อจะมีข้ออ้างตรงนี้ เพื่อที่จะหลุดพ้นความผิดทางกฎหมายได้นั่นเอง
  4.           ถ้าคุณโดนฟ้องว่ามีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ (หรือไม่คืนรถนั่นเอง) นั่นหมายถึงไฟแนนซ์สงสัยว่ารถยนต์เราหายไป แต่ถ้าหากยังเจอรถอยู่ไฟแนนซ์จะฟ้องไม่ได้ (ยึดรถไม่ได้อีกอยู่ดี) เพราะถือว่ายังคงตามรถคุณเจอ แต่ถ้าเมื่อไรรถยนต์หายไป หรือเอาไปจำนำ เอาไปขายให้คนอื่นต่อ คุณจะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ทันที และคุณโดนแน่ๆ
  5.           หากไฟแนนซ์ยึดรถคืนจากเราไม่ได้จริงๆ สิ่งที่ไฟแนนซ์จทำ คือเขาจะโอนเราซึ่งเป็นลูกหนี้ไปให้ฝ่ายฟ้องคดี ปัญหาที่เถียงกันอยู่คือ เมื่อยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ไฟแนนซ์ยังมีสิทธิ์ที่จะมายึดรถหรือไม่ ซึ่งมันเข้าสู่กระบวนการกฎหมายแล้ว และตอนนี้คุณจะทำอะไรต้องใช้อำนาจของศาลเท่านั้น ถ้าศาลไม่มีคำสั่งให้บังคับยึดทรัพย์ไฟแนนซ์ก็ยังจะมายึดไม่ได้ แต่ถ้ามีคำสั่งจากศาลว่าให้ไฟแนนซ์มายึดรถคุณจะต้องคืนรถให้กับไฟแนนซ์ตามคำสั่งศาลทันที มิเช่นนั้นจะมีโทษทางกฎหมายนั่นเอง

          ยังไงก็ตามแต่นี่คือข้อเท็จจริงจาก Real time Car Magazine และมันจะดีที่สุด หากคุณมีวินัยในการใช้จ่าย และชำระตรงทุกเดือน คุณจะไม่ปวดหัวกับการหนี และไฟแนนซ์ก็จะไม่มาปวดหัวกับคุณเช่นกัน ทางออกที่ดีสำหรับเรื่องนี้คือ ส่งตรงทุกงวดนั่นเองครับ ^^

Tip ความรู้

  1. สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ ทำเป็นวาจาไม่ได้ มิเช่นนั้นถือว่าเป็นโมฆะเสียเปล่า จะทำกันเอง จะพิมพ์ขึ้นมา หรือจะให้ใครเขียนให้ก็ตามแต่ สิ่งสำคัญที่สุดจะต้องลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายไว้เป็นหลักฐาน
  2. ในช่วงระหว่างผิดชำระงวดที่ 1-3 ไฟแนนซ์มีสิทธิ์ทวงถามแต่ไม่มีสิทธิ์ยึดรถ จะทวงถามสองส่วนด้วยกัน คือค่างวดและค่าติดตามทวงถาม แต่กฏหมายไม่ได้ระบุว่าค่าติดตามทวงถามต้องจ่ายเท่าไร (บางคนก็จ่ายบางคนก็ไม่จ่าย) มันขึ้นอยู่กับสัญญาที่เราเซ็นในตอนแรก เช่น ติดตามทวงถาม 500 บาทต่อครั้ง หรือสูงกว่านี้เกินความจำเป็น ศาลมีสิทธิ์ปรับความเหมาะสมให้กับเราได้เช่นกัน และการค้างค่าติดตามทวงถาม ไม่เป็นเหตุนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาได้ คนละส่วนกัน
  3. หากไฟแนนซ์ทวงแต่ค่าติดตามทวงถามเพียงอย่างเดียว เช่น ให้เอามาก่อน 2,000 มิเช่นนั้นจะถูกยึดรถ แบบนี้ไฟแนนซ์ไม่สามารถทำได้! มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการกรรโชคทรัพย์ การกรรโชคทรัพย์คือการที่ผู้ใดผู้หนึ่งส่งมอบทรัพย์สินให้ด้วยความกลัว กลัวอันตราย หรือเสียหายต่อทรัพย์สิน ซึ่งรถถือว่าเป็นทรัพย์สินของเรา นั่นคือการบังคับให้ส่งมอบทรัพย์สินโดยทำให้กลัวว่าจะโดนยึดรถนั่นเอง