เปิดประวัติ ” TRIUMPH ” 140 ปี เเห่งการเติบใหญ่ สู่เจ้าของเเบรนด์รถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร

เปิดประวัติ ” TRIUMPH ” 140 ปี เเห่งการเติบใหญ่ สู่เจ้าของเเบรนด์รถจักรยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร

 

เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะไม่รู้แน่ๆ ว่าบริษัทนำเข้าจักรเย็บผ้าจะกลายมาเป็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์ดังระดับโลก ใช่แล้วครับ เรากำลังจะพูดถึง Triumph…

Triumph คือแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์ที่ยักษ์ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร และแน่นอนว่าคนไทยน่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในภาพลักษณ์แนวโมเดิร์น-คลาสสิก จนกระทั่งเมื่อตอนมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวรถสปอร์ตอย่าง Daytona 660 ในประเทศไทยด้วยราคาเริ่มต้น 3 แสนกว่าบาท และหลายต่อหลายคนน่าจะรู้กันดีว่าเป็นแบรนด์รถที่ขึ้นแท่นซัพพลายเออร์หลักในการแข่งขันรุ่น Moto2 มาสักพักใหญ่ๆ แล้ว แต่เรื่องราวเบื้องหลังความสำเร็จของรถเมืองผู้ดีค่ายนี้ เรียกได้ว่า เป็นมหากาพย์เลยครับ

ถึงแม้ว่า Triumph จะเป็นแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์สัญชาติอังกฤษ แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ก่อตั้งแบรนด์กลับเป็นชาวเยอรมัน อ่ะ งง! งงล่ะสิ! จุดเริ่มต้นเริ่มจากชายคนนี้ครับ Siegfried Bettmann ซึ่งเขาย้ายจากเมืองนูเรมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี มาใช้ชีวิตอยู่ที่เมือง Coventry ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1883 ในปีต่อมา นาย Bettmann ในวัย 20 ปีก็ได้ก่อตั้งบริษัท S.Bettmann & Co. Import Export Agency ในกรุงลอนดอนเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายจักรยาน นอกจากนี้ยังนำเข้าจักรเย็บผ้า จากเยอรมนี ประเทศบ้านเกิดของพี่แกอีกด้วย

จนกระทั่งเมื่อปี 1886 Bettmann อยากจะตั้งชื่อบริษัทใหม่ให้ดูเจาะจงมากขึ้น จนได้ชื่อว่า Triumph Cycle Company และในปีต่อมา ปี 1887 ก็จดทะเบียนในชื่อ New Triumph Co.,Ltd. โดยมีค่ายยางรถยนต์อย่าง Dunlop มาช่วยซัพพอร์ตเงินทุน แถมยังได้เพื่อนร่วมเชื้อชาติอย่าง Moritz Schulte มาเป็นหุ้นส่วนอีกดด้วยครับ และนาย Schulte คนนี้นี่เองที่เป็นคนเสนอให้ Bettmann มาผลิตจักรยานเอง โดยเริ่มจากการยืมตังค์ของครอบครัว และรวมถึงของครอบครัว Schulte มาซื้อที่ดินในเมือง Coventry เพื่อตั้งโรงงานในปี 1888 และ เริ่มผลิตจักรยาน Triumph ขายในปี 1889 วันเวลาผ่านไปในปี 1896 ก็เปิดโรงงานผลิตอีกแห่งในเมืองนูเรมเบิร์ก

จุดเริ่มต้นของการผลิตรถมอเตอร์ไซค์เริ่มที่ตรงนี้นี่แหละครับ เมื่อปี 1898 Triumph คิดที่จะขยายธุรกิจจากการผลิตจักรยาน มาผลิตรถมอเตอร์ไซค์ และผลิตออกมาเป็นรถรุ่นแรกซึ่งก็คือการเอา จักรยานมาติดเครื่องยนต์ของ Minerva จากเบลเยียมนั่นเองครับ หลังจากที่รถรุ่นแรกนี้ ทำยอดขายไปได้ 500 คันในปี 1903 Triumph ก็เริ่มผลิตรถรุ่นนี้ต่อที่โรงงานในเมืองนูเรมเบิร์ก จนกระทั่งปี 1904 Triumph จากเดิมที่หยิบยืมดีไซน์ชาวบ้านเขามาผลิต ก็เริ่มหันมาผลิตรถมอเตอร์ไซค์ด้วยดีไซน์ของตัวเอง จนเปิดตัวรถในปี 1905 และทำยอดขายได้ 250 คัน

ในปี 1907 Triumph มีกำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นจนสามารถผลิตรถมอเตอร์ไซค์ได้ 1,000 คัน และยังเปิดตัวแบรนด์ลูกในชื่อว่า Gloria นอกจากนี้ยังมีการรีแบรนด์เพื่อส่งออกรถไปขายในต่างประเทศในชื่อว่า Orial แต่มาติดตรงที่ว่าพอเอามาขายในฝรั่งเศส ดันขายด้วยชื่อนี้ไม่ได้น่ะสิครับ เพราะในประเทศฝรั่งเศสก็มีธุรกิจนึงที่ใช้ชื่อนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นรถที่ผลิตในเมืองนูเรมเบิร์กจึงต้องมีการรีแบรนด์ใหม่ในชื่อว่า TWN ซึ่งย่อมาจาก Triumph Werke Nürnberg นั่นเองครับ

ความสำเร็จของ Triumph เกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 มาถึง บริษัทต้องเร่งการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ทีละเยอะๆ มากกว่า 3 หมื่นคัน เพื่อป้อนให้กับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร หนึ่งในนั้นก็ได้แก่รุ่น Model H นับได้ว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์สมัยใหม่รุ่นแรกของโลกก็ว่าได้ครับ ซึ่งต่อมาก็จะได้รับฉายาว่า “Trusty Triumph”

หลังจบสงครามก็ดันมีปัญหาติดๆ ขัดๆ เล็กน้อยครับเพราะ Bettmann ดันไม่โอเคกับ Schulte นี่สิครับ เพราะพี่แกอยากจะเปลี่ยนแนวทางมาผลิตรถยนต์แทน นั่นจึงทำให้ Schulte ตัดสินใจลาออก แต่ความย้อนแย้งมาเกิดขึ้นในช่วงปี 1920 ที่ Triumph ซื้อโรงงานเก่าในเมือง Coventry ที่เคยเป็นของค่ายรถยนต์อย่าง Hillman มาผลิตรถยนต์ในปี 1923 ภายใต้ชื่อบริษัทว่า Triumph Motor Company

จนกลางทศวรรษที่ 1920 Triumph กลายเป็นผู้ผลิตหลักทั้งรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ ในประเทศอังกฤษด้วยพื้นที่โรงงานกว่า 46 ตารางกิโลเมตร รองรับการผลิตรถยนต์ และรถมอเตอร์ไซค์ กว่า 3 หมื่นคันต่อปี ในส่วนของจักรยานเองก็ส่งออกขายดิบขายดีอย่างถล่มทลาย

จุดดิ่งของ Triumph เกิดขึ้นเมื่อปี 1929 ซึ่งตรงกับเหตุการณ์ “วันอังคารทมิฬ” พอดี ทำให้ Triumph ต้องขายกิจการโรงงานในเยอรมนีให้กับบริษัทผลิตเครื่องใช้สำนักงานอย่าง Adler โดยที่ยังผลิตรถมอเตอร์ไซค์ภายใต้แบรนด์ TWN อยู่ ยาวมาจนถึงปี 1957

ในปี 1932 Triumph ก็ต้องขายแบรนด์จักรยานให้กับ Raleigh Bicycle Company ถึงแม้ว่าจะต้องขายทั้ง 2 อย่างนี้ไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถประคับประคองต่อได้จนทำให้ Bettmann ในวัย 70 ปีถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่งประธานบริษัท และเกษียนในปี 1933

ในปี 1936 Triumph ถูกแบ่งออกมาเป็น 2 บริษัทย่อยโดยที่เจ้าหนึ่งผลิตรถยนต์ และอีกเจ้าหนึ่งผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งต่อมาเจ้าที่ผลิตรถยนต์ก็ล้มละลายอีก ในปี 1939 ก่อนจะถูกเทคโอเวอร์ไปโดย Standard Motor Company ตัดภาพมาที่มอเตอร์ไซค์ ยังดีกว่าหน่อยครับ เพราะถูกซื้อไปโดย นาย  John Young Sangster ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์คู่แข่งอย่าง Ariel และภายในปีเดียวกัน Triumph ก็ผลิตรถมอเตอร์ไซค์รุ่นแรกที่ส่งออกไปขายในสหรัฐอเมริกา ทำให้เติบโตเร็วจนกลายเป็นแบรนด์รถมอเตอร์ไซค์อันดับต้นๆ ภายในเวลาแป๊บๆ เดียว และนาย Sangster ยังก่อตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาในชื่อ Triumph Engineering พร้อมเกณฑ์เอาพนักงานเก่าของ Ariel มาทำงานอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือ Edward Turner ผู้ที่ออกแบบ Triumph Speed Twin 5T ขนาด 500 cc เปิดตัวในปี 1937 และกลายมาเป็นรถสองสูบคู่เรียงที่ประสบความสำเร็จรุ่นแรกของ Triumph และยังปฏิวัติการออกแบบรถมอเตอร์ไซค์ของ Triumph ไปตลอดกาลอีกด้วยครับ

ต่อมาในปี 1939 Triumph เปิดตัว Tiger 100 ที่ทำความเร็วสูงสุดได้ 160 กม./ชม. และขายได้แค่แป๊บเดียวเท่านั้นครับ เพราะต่อมาก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อ คราวนี้พินาศยิ่งกว่าเก่าครับ เพราะทั้งเมือง Coventry และ โรงงานทั้งหมดของ Triumph โดน กองทัพอากาศเยอรมัน Luftwaffe บึ้มจนเละเทะ
ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีอยู่ครับ เพราะเครื่องมือ และเครื่องจักร ยังพอจะเก็บกู้และมาตั้งโรงงานใหม่ได้ในปี 1942 ที่เมือง Meriden เทศมณฑล Warwickshire

หลังสิ้นสุดสงคราม Triumph Speed Twin เริ่มผลิตได้มากขึ้น แต่ 70% ของรถทั้งหมดที่ผลิต ถูกบังคับให้ส่งออกไปขายในสหรัฐอเมริกาตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ใน “นโยบายให้ยืม-เช่า” หรือ  “รัฐบัญญัติส่งเสริมการป้องกันสหรัฐ” ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาล Franklin D. Roosewelt บังคับใช้ สำหรับจัดหาอาหาร น้ำมัน และอาวุธ ให้กับประเทศพันธมิตรในช่วงสงคราม ได้แก่ ฝรั่งเศสเสรี, สหราชอาณาจักร, สาธารณรัฐจีน, สหภาพโซเวียต, และชาติพันธมิตรอื่นๆ นั่นเองครับ

เจ้า Speed Twin และ Tiger 100 ที่ผลิตหลังสงครามนี้มีความพิเศษอยู่ตรงที่ระบบช่วงล่างที่ Triumph เป็นคนออกแบบเองอีกด้วยครับ พร้อมกับเปิดตัวรุ่นพิเศษที่ใช้ในการแข่งขันอย่าง Grand Prix อีกด้วยครับ

ในปี 1948 Triumph ก็เปิดตัวรถรุ่นใหม่ TR5 Trophy ที่ใช้เครื่องปั่นไฟสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาทำเป็นเครื่องยนต์ขนาด 500 cc และสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในรายการ International Six Days Trial ปี 1948 อีกด้วยครับ

และด้วยความที่ตลาดพี่มะกัน เค้านิยมรถที่ขับขี่ออกทริปไกลๆ นาย Turner จึงต้องออกแบบรถที่มีขนาดเครื่องยนต์ใหญ่กว่าเดิมถึง 650 cc และใช้ดีไซน์ของ Speed Twin เป็นต้นแบบออกมาเป็น Thunderbird ในปี 1949 ซึ่งในเวลาต่อมาลิขสิทธิ์ชื่อของรถรุ่นนี้ก็ถูกแบ่งให้ Ford เอาไปใช้กับรถยนต์ของตัวเองนั่นเองครับ ความนิยมของรถรุ่นนี้พุ่งขึ้นมาถึงขีดสุดในช่วงราวๆ ปี 1953 เพราะเป็นรถที่สุดยอดนักแสดงระดับโลก Marlon Brando ขี่ในหนังเรื่อง The Wild One นี่เองครับ ซึ่งต่อมาเขาคนนี้ก็กลายมาเป็นที่จดจำจากผลงานหนังเรื่อง The God Father ในบทของตัวละคร Vito Corleone และยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนดังรุ่นต่อๆ มาอย่าง Elvis Presley หรือ James Dean อีกด้วยครับ

ในปี 1951 Sangster ก็ขายกิจการของ Triumph ให้กับบริษัทผลิตอาวุธปืนยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ Birmingham Small Arms หรือ BSA พร้อมกับขึ้นทำเนียบผู้บริหารไปด้วย มั่นใจแน่ๆ ครับว่าทุกคนจะต้องงง คือ BSA เขาไม่ได้ผลิตแค่ปืนอย่างเดียวครับ แต่ยังผลิตจักรยาน และรถมอเตอร์ไซค์ เหมือนๆ กับ Triumph อีกด้วย นั่นจึงไม่แปลกใจครับว่าทำไมถึงไปด้วยกันได้ อ่ะกลับเข้าเรื่องของ Triumph ต่อ

ในปี 1954 Triumph ก็ได้เปิดตัวลูกผสมระหว่า Tiger 100 กับ Thunderbird ออกมาเป็น Tiger 110 โดยมีการหยิบเอาจุดเด่นของทั้ง 2 รุ่นอย่าง เครื่องยนต์ 650 cc จาก Thunderbird มารวมกับความเป็นรถสมรรถนะสูงจาก Tiger 100 และถัดมาในปี 1959 ก็มีการพัฒนา T110 ขึ้นมาใหม่โดยการจูนคาร์บูเรเตอร์คู่ให้ดีขึ้นกว่าเดิม กลายมาเป็น Bonneville และก็มีคู่แข่งอยู่เจ้านึงครับที่ต้องหนาวเมื่อเจอรถรุ่นนี้นั่นก็คือ Harley-Davidson ที่เริ่มมองว่ารถเดิมๆ เครื่องหลักพัน มันดูไม่สปอร์ตสมกับเป็นรถสมัยใหม่เอาซะเลย ไม่ช้าก็เร็วจะต้องสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดแบบสาหัสสากรรจ์ แน่ๆ จึงออกรุ่น Sportster เพื่อมาสู้กับ Bonneville โดยเฉพาะ… แหม่! เดือดจริงๆ คู่นี้

ในช่วงทศวรรษที่ 1960 Triumph ก็เริ่มขยายตลาดของตัวเองด้วยการออกรถสกูตเตอร์มา 2 รุ่นได้แก่ Tina เครื่องยนต์ 2 จังหวะขนาด 100 cc พร้อมคลัทช์ออโต และ Tigress ที่มาพร้อมเครื่องยนต์ 2 แบบให้เลือกตามความชอบทั้ง สูบเดียว 2 จังหวะ 175 cc หรือ สูบคู่เรียง 4 จังหวะ 250 cc

เรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อปี 1963 จากเดิมที่ Triumph เน้นผลิตเครื่องยนต์แบบ Pre-Unit ก็เริ่มเดินสายผลิตเครื่องยนต์ Unit Construction หรือ UCE อย่างเต็มตัว และในปี 1969 Malcolm Uphill ก็ขี่ Bonneville พิชิต Isle of Man TT ได้ด้วยการทำความเร็วต่อรอบโดยเฉลี่ยถึง 160.92 กม./ชม. และยังคว้าสถิติต่อเนื่องด้วยความเร็วเฉลี่ย 161.53 กม./ชม. เมื่อแปลงเป็นหน่วยวัด ไมล์ต่อชั่วโมง ก็เท่ากับว่า Bonneville รุ่นนี้เป็นรถมอเตอร์ไซค์รุ่นแรกของโลกที่ทำความเร็วเฉลี่ยต่อเกิน 100 ไมล์/ชม. ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม

มรสุมในช่วงยุคนี้ที่ Triumph และ BSA ต้องเผชิญ คือการมาถึงของรถมอเตอร์ไซค์ค่ายญี่ปุ่นมากหน้าหลายตา ทั้ง Honda, Yamaha หรือแม้กระทั่ง Kawasaki ที่ผลิตรถขนาดเล็กกว่า , ซ่อมบำรุงน้อยกว่า และราคาเข้าถึงง่ายกว่า

แรงปะทะอันหนักหน่วงนี้ทำให้ Triumph จึงต้องออกรถที่เล็กลงอย่าง Bandit ในช่วงปี 1970 ที่มีเครื่องยนต์ขนาด 350 cc เพื่อตอบโต้ตลาดญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม ยิ่งทำให้แฟนๆ Triumph ณ เวลานั้นผิดหวังมากขึ้นไปอีก เพราะไม่เหลือเอกลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็น Triumph นั่นเองครับ

ความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้ค่ายรถในเครือ BSA Group ทั้งหมดต้องสูญเสียรายได้ไปถึง 8.5 ล้านปอนด์ และล้มละลายไปในปี 1972 จนต้องขายกิจการยกแผงให้กับ Manganese Bronze Holdings เจ้าของแบรนด์ Norton และ Matchless พร้อมกับควบรวมมาเป็น Norton Villiers Triumph หรือ NVT แต่นั่นก็ไม่ได้ช่วยดึง Triumph ขึ้นมาจากปากเหวได้เลยครับ เพราะในเดือนกันยายนปี 1973 นาย Dennis Poore CEO ของ NVT ก็ประกาศปิดโรงงาน Triumph ในเมือง Meriden ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1974 พร้อมเลิกจ้างพนักงานถึง 3,000 คน จากทั้งหมด 4,500 คน และย้ายฐานการผลิตไปยังเมือง Birmingham เหตุการณ์ในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนอดีตพนักงานออกมาประท้วง และยืดเยื้ออยู่อย่างนี้ถึง 2 ปี ต่อมาหลังจากการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในตอนนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ Tony Benn ที่ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีการค้า กับอุตสาหกรรม ทำให้สามารถจัดตั้งสหกรณ์แรงงานขึ้นมาได้ และเป็นดีลเลอร์เจ้าเดียวให้กับ Triumph ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของ NVT

หลังจากที่  NVT ล้มละลายในปี 1977 สหกรณ์นี้ก็เข้าซื้อ Triumph ต่อด้วยเงินทุนที่กู้จากภาครัฐ กลายมาเป็น บริษัท Triumph Motorcycle (Meriden) จำกัด เน้นขายรถรุ่น Bonneville และ Tiger เป็นหลัก โดยรถรุ่นแรกภายใต้เจ้าของใหม่นี้ ที่ประสบความสำเร็จคือ Bonneville T140J Silver Jubilee ปี 1977 ซึ่งเป็นรถรุ่นพิเศษวางขายเพียง 1,000 คันในตลาดอเมริกา 1,000 คันในตลาดสหราชอาณาจักร และอีก 400 คันในเครือจักรภพ และยังเป็นรถรุ่นพิเศษที่ผลิตขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองรัชดาภิเษกให้กับ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และในปี 1978 Triumph กลายเป็นแบรนด์ยุโรปที่ขายดีที่สุดในตลาดสหรัฐอเมริกา

ในช่วงปี 1978-1979 Triumph ออก Bonneville รุ่น T140D Special และ T140E ที่มีการปรับปรุงสเปคให้รองรับกับนโยบาย Muskie Act แต่ก็ไปได้ไม่สวยนักเพราะค่าเงินปอนด์อังกฤษแข็ง ทำให้รถที่ส่งออกไปยังให้พี่มะกัน ดันราคาแพงขึ้นมาซะงั้น ขนาดที่ว่าต่อให้ออกรุ่น T140EX ที่เพิ่มระบบสตาร์ทไฟฟ้าก็ไม่ช่วยอะไรเลยครับ จนมาถึงปี 1980 ภาระหนี้ของ Triumph ที่กู้จากรัฐจากเดิมที่ติดอยู่ 5 ล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านปอนด์กว่าๆ

ในเดือนตุลาคม 1980 รัฐบาลใหม่จากพรรคอนุรักษ์นิยมตัดภาระหนี้ที่ Triumph ต้องแบกไป 8.4 ล้านปอนด์ แต่ก็ยังเหลือหนี้อีก 2 ล้านปอนด์ที่ต้องจ่ายให้กับ การเงินเพื่อการส่งออก หรือ UKEF อยู่ดีครับ

ภายในปีนั้น Triumph ออกรถรุ่นต่างๆ มากมายเช่น TR7T Tiger Trail ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ หรือ TR65 Thunderbird ที่ราคาย่อมเยาว์ แต่ก็ยังไม่สามารถประคับประคองไม่ให้ดิ่งไปอีกได้ และยอดขายในตลาดสหรัฐก็ยังร่วงลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 1983 Triumph ตัดสินใจซื้อแบรนด์ Hesketh และพัฒนาเครื่องยนต์สูบคู่เรียงขนาด 900 cc ระบายความร้อนด้วยน้ำ ไปโชว์ในงาน National Exhibition Show เพื่อดึงดูดนักลงทุน แต่ยังไม่รอดอยู่ดีครับ จนวันที่ 23 สิงหาคม Triumph ก็ต้องล้มละลายไปในที่สุดครับ

ภายในปีเดียวกันนี้เอง “อัศวินขี่ม้าขาว” ก็ปรากฏตัวครับนั่นก็คือ นาย John Bloor มหาเศรษฐีที่สร้างตัวจากธุรกิจก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพี่แกก็ชุบชีวิต Triumph ให้กลับมารุ่งโรจน์สมชื่ออีกครั้ง โดยการซื้อสิทธิ์ในการผลิตรถ Bonneville T140 จาก Les Harris และผลิตที่โรงงานในเมือง Newton Abbot เทศมณฑล Devonshire เป็นการชั่วคราวถึง 5 ปี พร้อมกับจ้างพนักงานเก่าๆ ของ Triumph ให้กลับมาทำงานอีกครั้ง นอกจากนี้พี่แกยังส่งพนักงานไปศึกษาดูงานถึงญี่ปุ่น และนำเอาความรู้มาพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอีกด้วยครับ ความใจป๋ายังไม่จบเพียงแค่นี้เพราะ นาย Bloor ทุ่มเงินไปถึงเกือบๆ 100 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมือง Hinckley เทศมณฑล Leicestershire ด้วยพื้นที่กว่า 40 ตร.กม. เริ่มผลิตรถรุ่นแรกในปี 1991 ทำเงินไปได้อย่างสวยงาม และยังก่อตั้งฐานการผลิตรถ Triumph แยกออกมาอีก 2 เจ้าที่ประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส ตามมาด้วย สหรัฐอเมริกาในปี 1994 ก่อนที่หายนะจะเกิดขึ้นต่อมาครับ

ค่ำคืนที่ 15 มีนาคม ปี 2002 เวลา 3 ทุ่มตรง ในวาระฉลองครบรอบ 100 ปี Triumph โรงงานเกิดไฟไหม้เสียหายไปกว่าครึ่ง ซึ่งต้องใช้รถดับเพลิงกว่า 30 คัน และนักผจญเพลิงถึง 100 คนในการดับไฟ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทาง Triumph ก็ยังไม่ยอมแพ้ ฟื้นฟูโรงงานนี้ได้ภายในเวลาแป๊บๆ เดียว

ในเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกัน Triumph ตั้งโรงงานในจังหวัดชลบุรี ประเทศไทยบ้านเรา และกลายมาเป็นฐานการผลิตหลักระดับโลก และมีจำนวนพนักงานกว่า 1,000 คน

ในปี 2006 ก็มีการตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ของอังกฤษภายใต้ดำริของ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่ง York และตามมาด้วยโรงงานแห่งที่ 3 ในปี 2007 พร้อมขยายกำลังการผลิตให้ได้มากกว่า 130,000 คัน

ในเดือนมิถุนายน ปี 2009 Digby Jones บารอนแห่ง Birmingham ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารของ Triumph พร้อมประกาศเปิดตัวรถ Thunderbird รุ่นใหม่ขนาด 1,600 cc

ต้นปี 2011 Nick Bloor ผู้เป็นลูกชายของ John Bloor ขึ้นดำรงตำแหน่ง CEO ต่อมาในปี 2017 Triumph ลงนามข้อตกลงร่วมมือกับ Bajaj ก่อนที่ต่อมาก็จับมือกับ KTM และ Husqvarna ทำให้ Triumph สามารถผลิตรถขนาดเล็กภายใต้แบรนด์ของตัวเองได้ และยังให้ Bajaj ช่วยขับเคลื่อนแบรนด์ Triumph ในตลาดอินเดียอีกด้วยครับ

ในปี 2019 Triumph ก็ได้ขึ้นแท่นเป็นซัพพลายเออร์หลักในรายการแข่งขัน Moto2 แทน Honda โดยเครื่องยนต์ที่นำมาใช้ในการแข่งขันคือเครื่องยนต์ 3 สูบ ขนาด 765 cc ที่พัฒนาจากรถ Street Triple RS พร้อมจูนให้เค้นพละกำลังได้ถึง 136 hp

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 Triumph ย้ายสายการผลิตรถ Tiger 1200 และ Speed Triple ไปผลิตในเมืองไทย และให้โรงงานในอังกฤษเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนา

ถัดมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2021 Triumph ร่วมมือกับ Ricky Carmichael แชมป์ AMA Motocross 7 สมัย และ Supercross 5 สมัย และ Ivan Cervantes แชมป์ Enduro 5 สมัย ในการพัฒนารถออฟโรด พร้อมกับการเปิดตัวซีรีส์ให้รับชมใน Youtube ชื่อ “Vision to Reality” ยาวมาจนถึงปัจจุบัน

ในเดือนกรกฎาคม 2023 Triumph และ Bajaj เปิดตัวรถที่พัพฒนาร่วมกันได้แก่ Speed 400 และ Scrambler 400 ซึ่งทำยอดจองในตลาดอินเดียได้ถล่มทลายด้วยจำนวน 10,000 คันภายใน 10 วัน

ถ้าหากจะถามว่า Triumph โด่งดังขึ้นมาได้ยังไงนั้น เราเองก็กล้าพูดได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากการตลาด Product Placement ในหนังฮอลลีวูดเรื่องต่างๆ รวมถึงยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับคนดังระดับโลกต่างๆ มากมาย ในหมู่รถอังกฤษด้วยกัน ถ้า Aston Martin คือเจ้าการตลาดรถยนต์บนแผ่นฟิล์มแล้ว รถมอเตอร์ไซค์ก็ต้อง Triumph นี่แหละครับ

นอกจากในหนังเรื่อง The Wild One ปี 1953 ที่พูดถึงก่อนหน้านี้ก็ยังมีตัวอย่างเช่น รถ Daytona 955i และ Speed Tripple 955i ในหนังเรื่อง MISSION:IMPOSSIBLE II ปี 2002, Bonneville ในหนังเรื่อง The Avengers ปี 2012, Scrambler ในหนังเรื่อง Jurassic World ปี 2015, Scrambler 1200 XE ในหนัง James Bond ภาค No Time to Die ปี 2021 หรือแม้กระทั่ง Bonneville ในหนังสยองขวัญอย่าง Five Nights at Freddy’s ปี 2023

นอกจากนี้ยังมีการออกรถรุ่นพิเศษที่รำลึกถึงคนดังระดับตำนานอีกด้วยครับอย่างเช่น Bob Dylan, Elvis Prestley, James Dean หรือแม้กระทั่ง Steve McQueen

และนี่คือมหากาพย์ รถมอเตอร์ไซค์ค่ายผู้ดี อายุ 140 ปีที่ล้มมาหลายรอบ แต่ก็ยังกลับมาลุกขึ้นยืนอยู่เสมอ ก่อนจบคลิปนี้บอกให้เรารู้หน่อยครับว่า “คุณชอบรถ Triumph รุ่นไหนมากที่สุด” หากผิดพลาดหรืออยากเพิ่มเติมอะไร คอมเม้นต์มาได้ที่ใต้คลิปนี้ครับ


ทาง Realtime car magazine ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามารับชมกันนะครับ และยังสามารถไปติดตามเราต่อได้ที่นี่เลย

Website : http://www.realtimecarmagazine.com/newsite/
Facebook : https://www.facebook.com/realtimecarmagazinecom/
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCeamIIu312yD-jYJUzOd7kQ
instagram : https://www.instagram.com/realtimecar_m
Tiktok : https://www.tiktok.com/@realtimecar
Lemon8 : https://s.lemon8-app.com/al/QdvMMZFrQR
Thread : https://www.threads.net/@realtimecar_magazine

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *