TURBO TIMER เท่อย่างเดียวหรือมีประโยชน์ด้วย..?

TURBO TIMER เท่อย่างเดียวหรือมีประโยชน์ด้วย..?

       หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการติดตั้งเทอร์โบไทม์เมอร์สักเท่าไหร่นัก ซึ่งบางคนคิดว่าเพียงแค่หน่วงเวลาดับเครื่องยนต์ก็ไม่เห็นจะมีอะไร แต่ที่สำคัญมันดูเท่ดี พอเราลงจากรถล็อครถเสร็จแล้วเดินออกไป แล้วรถก็ดับลงเองตามเวลาที่เราได้ตั้งไว้ ในความเป็นจริงแล้วสำหรับรถที่มีระบบอัดอากาศหรือเทอร์โบถือว่ามีความสำคัญประมาณหนึ่งเลยแหละครับ จะเป็นอย่างไรนั้นในคอลัมน์นี้มีคำตอบครับ

       การวอร์มดาวน์ (Warm Down) ก็คือ การปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานในรอบเดินเบา โดยปราศจากภาระหรือโหลดต่างๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะทำการดับเครื่องยนต์ครับ ซึ่งในเครื่องยนต์ ทั้งเบนซินและดีเซล จะมี ระบบเทอร์โบชาร์จ ซึ่งเจ้าเทอร์โบชาร์จนี้ มันเป็นอุปกรณ์ที่ใช้อัดอากาศให้มีความดันเข้าห้องเผาไหม้ โดยอาศัยหลักการแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ของกังหันไอดีของเทอร์โบ โดยรับแรงขับมาจากกังหันไอเสียซึ้งมีแกนขับต่อถึงกัน ตั้งแต่เริ่มสตาร์ทเครื่องยนต์ จนกระทั่งดับเครื่อง เจ้ากังหันเทอร์โบตัวนี้จะทำงานตลอด ด้วยแรงดันของไอเสียที่คายออกมาขับ และเมื่อรอบสูงขึ้น กังหันก็จะยิ่งหมุนเร็วขึ้น แล้วแต่ว่าเจ้าเทอร์โบตัวนั้นจะถูกออกแบบให้กังหันสามารถปั่นไอดี เจ้าแกนเทอร์โบที่ต่อระหว่างกังหันทั้งสองฝั่งนี้จะหมุนได้เป็นหมื่นๆถึงแสนรอบ/นาที ซึ่งแน่นอนว่ามันจะเกิดความร้อนสะสมเมื่อเราใช้รอบเครื่องเป็นเวลานานๆ อย่างเวลาที่เราวิ่งทางไกล เร่งแซง หรือเครื่องยนต์ใช้รอบรับโหลด เทอร์โบปั่นบูสท์เป็นเวลานานๆ ยิ่งเทอร์โบที่ทำบูสท์สูงมาก ก็ยิ่งหมุนเร็ว และมีความร้อนมาก จึงต้องมีการออกแบบระบบระบายความร้อนของเจ้าแกนเทอร์โบนี้ด้วย ซึ่งก็มีทั้งแบบ ที่ใช้น้ำหล่อเย็นซึ่งไหลเวียนในเครื่องยนต์อยู่แล้ว ต่อท่อมาไหลผ่านหล่อเลี้ยงแกนเทอร์บ ซึ่งน้ำหล่อเย็นที่ไหลเวียนอยู่ในระบบของเครื่องยนต์มันมีการหมุนเวียนได้โดยการขับของปั๊มน้ำ อีกแบบหนึ่งก็คือใช้น้ำมันหล่อลื่นที่ไหลเวียนในระบบมาหล่อเลี้ยงแกนเทอร์โบ ซึ่งน้ำมันเครื่องนี้ก็มีการหมุนเวียนได้เพราะมีการขับจากปั๊มน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์เหมือนกัน ก็แล้วแต่การออกแบบของผู้ผลิตเทอร์โบแต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่นครับหรือเทอร์โบบางรุ่นก็มีการหล่อเลี้ยงแกนทั้งสองระบบก็มีครับ….

       เมื่อเราดับเครื่องยนต์ ปั๊มน้ำ หรือปั๊มน้ำมันเครื่องก็จะหยุดทำงาน ทำให้ไม่มีน้ำ หรือน้ำมันไปหล่อเลี้ยงที่แกนของเทอร์โบ ซึ่งถ้าเป็นในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานมาอย่างหนัก เช่นเราวิ่งทางไกล ขึ้นเขา ลากจูง ใช้โหลด ใช้รอบในการเร่งแซงมากๆ ในรอบเครื่องยนต์ที่สูงๆเป็นเวลานานๆ เมื่อเราจอดรถแล้วเราดับเครื่องยนต์ทันที เจ้าปั๊มน้ำมันเครื่อง หรือปั๊มน้ำมันก็จะหยุดทำงาน ทำให้การไหลเวียนในระบบหยุดลง ทีนี้ ในเมื่อเจ้าแกนเทอร์โบ ทำงานมาอย่างหนัก หมุนด้วยรอบสูง เกิดความร้อนสะสม เมื่อไม่มีน้ำหรือน้ำมันไปหล่อเลี้ยงแกนเทอร์โบมันก็จะสึกหรอไปไวกว่าปกติ ถ้าสังเกตเวลาขับรถออกต่างจังหวัด เราจะเห็นว่าตามปั๊มน้ำมัน เวลาที่มีรถบรรทุกใหญ่ๆ รถบัส หรือแม้กระทั่งรถตู้ รถกระบะ ที่เขาไม่ค่อยจะดับเครื่องยนต์กัน เมื่อเพิ่งเข้ามาจอดใหม่ๆ ทั้งนี้ เพราะว่า เขากำลังทำการ Warm Down เครื่องยนต์ เพื่อให้น้ำ หรือน้ำมันเครื่องไหลไประบายความร้อนของแกนเทอร์โบ เป็นระยะเวลาสั้นๆก่อนที่จะดับเครื่องหากต้องดับเครื่องยนต์ครับ เพื่อถนอมอายุการใช้งานของเทอร์โบนั่นเอง
ส่วนเวลาในการ Warm Down นั้นก็ตามความเหมาะสม ซัดมาโหดมาก วิ่งมายาวๆ ก็นานหน่อย ถ้าไม่มากก็พอประมาณ โดยทั่วไปสำหรับผมก็คือ 3-5 นาทีครับ หรือถ้าแค่ขับรถเข้ามาเติมน้ำมัน ซึ่งในต่างจังหวัดเราวิ่งเป็นระยะทางไกลๆมาก็ไม่ควรดับเครื่องยนต์ครับ เพราะแกนเทอร์โบ มันยังร้อนอยู่…. ถ้าดับเลย พังไวแน่นอนครับ

       ดังนั้นในเจ้าโก้เราก็เหมือนกันครับ ควรจะทำการ Warm Down เมื่อมีการใช้งานวิ่งไกลๆ รอบสูงๆเป็นประจำ ยิ่งถ้าใครโมฯมาเต็มๆด้วยแล้ว เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย

       Turbo Timer จึงมีหน้าที่ขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป ซึ่งระบบนี้ก็มีทั้งแบบใช้ระบบรีเลย์ไฟฟ้า ตัด-ต่อ การทำงานของสวิตซ์กุญแจ หรือ กระทั่งแบบที่ใช้อิเลคโทรนิคส์ควบคุม มีระบบ Auto ในการตรวจจับสภาวะการใช้งานของรถก่อนหน้า โดยเอาข้อมูลมาจาก ECU กันเลยก็มีครับ อย่างที่นิยมใช้กันในรถยนต์ปัจจุบัน รถยนต์หรูๆ บางยี่ห้อ ก็มีมาให้จากโรงงานเป็นอุปกรณ์ติดรถมาเลยก็มีครับ

          เป็นยังไงกันมั่งละครับสำหรับเจ้า Turbo Timer ไม่ได้มีไว้เพื่อความเท่อย่างเดียวแต่มันช่วยรักษาแกนเทอร์โบให้อยู่กับเราไปได้นานแสนนานกันเลยทีเดียวครับ ในคอลัมน์หน้าจะมีเรื่องราวดีๆและมีประโยชน์แบบไหนนั้นต้องคอยติดตามกันต่อไปครับ