ย้อนรอย ประวัติศาสตร์ ความแรงของ Ducati
หากจะพูดถึงค่ายรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นตัวเต็งของวงการมอเตอร์สปอร์ตจากอิตาลีแล้ว ชื่อหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ Ducati ด้วยดีไซน์ที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร และเทคโนโลยีที่ขึ้นชื่อว่า “นำหน้าคู่แข่ง 1 ก้าวเสมอ” ในสกู๊ปนี้พวกเรา Realtime Car Magazine จะพามาย้อนรอยประวัติศาสตร์ความแรงของ เจ้าอสูรสีแดงแห่งเมืองพาสต้า กันครับ
จุดเริ่มต้นที่ไม่ใช่รถมอเตอร์ไซค์
บริษัท Ducati ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1926 แต่ก่อนหน้านั้นต้องย้อนกลับไปถึงเรื่องราวของ ผู้ก่อตั้งคนแรกคือนาย อันโตนิโอ คาวาเลียริ ดูคาติ (Antonio Cavalieri Ducati) ที่มีชีวิตในช่วงปี 1855-1927 ในตอนแรกใช้ชื่อ บริษัทว่า Società Scientifica Radio Brevetti Ducati
บริษัทจดทะเบียนเพื่อทำการวิจัยและผลิตเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารทางวิทยุ ต่อมาลูกชายที่ชื่อ อาดริอาโน ดูคาติ (Adriano Ducati) ได้เข้ามาบุกเบิกทำให้การติดต่อทางวิทยุระหว่างประเทศอิตาลีกับอเมริกามีความเสถียรมากขึ้น และยังสามารถติดต่อข้ามทวีปทั้ง 5 ทวีปได้ ลูกชายของอันโตนิโอ ประสบความสำเร็จตั้งแต่ยังหนุ่ม แต่หลังจากเปิดบริษัทได้เพียงปีเดียว อันโตนิโอก็ได้เสียชีวิตลง ทำให้ลูกชายสามคนได้เข้ามาพัฒนาและขยายกิจการต่อ นับเป็นจุดเริ่มต้นของ Ducati คือ ปีค.ศ. 1926 เมื่อสามพี่น้อง (อาดริอาโน (Adriano),มาร์เชลโล (Marcello) และ บรูโน ดูคาติ (Bruno Ducati)) ชาวอิตาลีร่วมกันก่อตั้งเป็นบริษัท โดยเริ่มต้นจากธุรกิจอุตสาหกรรมผลิตส่วนประกอบวิทยุในเมือง Bologna เป็นโรงงานแห่งแรกของ Ducati สร้างขึ้นวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 1935 ถือว่าแนวทางของบริษัทนับว่าธุรกิจดำเนินไปได้เป็นอย่างดีมีคนงาน 3,500 คน มีการจัดระบบอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนจะได้รับผลกระทบของช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ Ducati ถูก บังคับให้ทำการผลิตเพื่อกองทัพแทนที่จะผลิตเพื่อพลเมือง เช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ ในอิตาลี และหลังจากนั้นโรงงานก็ถูกยึดครองจากกองทัพเยอรมันแล้วถูกวางระเบิดในภายหลัง ณ วันที่ 12 ตุลาคม 1944
จากวิทยุ สู่รถมอเตอร์ไซค์
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี 1945 มีบริษัทเล็กๆ ชื่อว่า “SIATA” (Societa Italiana per Applicazioni Tecniche Auto-Aviatorie) มีเจ้าของชื่อ นายอัลโด ฟาริเนลลิ (Aldo Farinelli) ได้พัฒนาระบบเครื่องยนต์ขนาดเล็ก เพื่อติดตั้งในรถจักรยาน หลังจากนั้นเพียงหนึ่งเดือนเค้าได้ประกาศขายเครื่องยนต์นี้ในปี 1944 ชาวอิตาเลียนเรียกเครื่องยนต์นี้ว่า “คุตโชะโล่ (cucciolo)” เครื่องยนต์นี้ได้รับความสนใจจากบรรดานักธุรกิจในทันที รวมไปถึง 3 พี่น้อง Ducati ด้วย ก่อนที่พวกเขาได้ตัดสินใจร่วมมือกับ SIATA พร้อมยังฟื้นฟูโรงงานขึ้นมาใหม่บางส่วนในท้ายปี 1945 และเปิดการผลิตในเดือนมีนาคม ปี 1946 ผลิตภัณฑ์แรกคือ Cucciolo เป็นเครื่องยนต์ลูกสูบเดี่ยวที่จะนำไปติดตั้งกับจักรยานปกติได้เลย ซึ่งเครื่องยนต์นี้เองที่นำมาพัฒนาเป็นรถมอเตอร์ไซค์แบบแรกของDucati และประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถจำหน่ายออกสู่ตลาดจำนวนกว่า 250,000 เครื่องทั่วโลก
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ในปี 1948 ทางครอบครัว Ducati ได้ตัดสินใจขายบริษัทให้อยู่ในการถือครองของรัฐ และตัวของอาดริอาโน(Adriano) ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศอเมริกา และได้คิดค้นและพัฒนาระบบเครื่องยนต์พลาสม่า ให้กับองค์การนาซ่า (NASA)
หลังจากนั้นตลาดรถมอเตอร์ไซค์เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้นในปี 1952 ดูคาติตัดสินใจร่วมมือกับ Cruiser นำเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัทมารวมกันผลิตรถมอเตอร์ไซค์ ที่ทำงานด้วยระบบไฟฟ้าแบบอัตโนมัติชื่อว่า Ducati 175 Cruiser โดยเปิดตัวที่มิลาน ในปีถัดมาก็ได้เปิดตัวอีกสองรุ่นคือ รุ่น 98 cc และ 125 cc แต่ผลการตอบรับกลับไม่ดีอย่างที่ควรทำให้ 2 ปีต่อมา ต้องยกเลิกการผลิตในรุ่นนี้ไป
ต่อมาในปี 1954 เริ่มแรกเดิมที่ธุรกิจแรกของ Ducati คือการผลิตอุปกรณ์สื่อสารด้านวิทยุ จึงทำให้ ทาง Ducati ตัดสินใจแยกสายการผลิตออกเป็น 2 บริษัทอย่างชัดเจน ได้แก่ Ducati Mechanical เป็นผู้พัฒนาในเรื่องของระบบยานยนต์ และ Ducati Electrical ซึ่งเป็นสายการผลิตเดิมของครอบครัวที่ทำมาตั้งแต่ต้น
ในปีเดียวกันทางบริษัท Ducati Mechanical ได้ร่วมงานกับวิศวกรที่ชื่อ ฟาบิโอ ทาลิโอนี (Fabio Taglioni) หรือ “Doctor T” ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาเทคนิคอยู่ที่อิโมล่า (Imola) และฟาบิโอเองมีการออกแบบมอเตอร์ไซค์สำหรับรถแข่งเอาไว้ก่อนแล้ว คือรุ่น Gran spot 100 ซีซี โดยใช้ชื่อ “Marianna” ดังนั้นเขาและดูคาติจึงร่วมมือกันพัฒนาและนำรถที่พัฒนาขึ้นทดลองลงแข่งใน “Milan-Taranto” และ “Tour of Italy” เป็นครั้งแรก และ Marianna กลายเป็นแชมป์อย่างต่อเนื่องของการแข่ง Gran Fondo ระหว่างปี 1955 และ 1957 ระหว่างนั้นในปี 1956 Ducati ได้ผลิตรถรุ่น 100 Sport ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามารถทำลายสถิติโลก 46 รายการภายในวันเดียว ช่วงนั้นถือได้ว่าได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยนั้น
กำเนิดเครื่องยนต์ Desmodromic
ในปี 1956 Ducati ออกแบบเครื่องยนต์ Desmodromic เพื่อนำมาใช้กับรถรุ่น Ducati 125 Gran Prix ลากรอบได้ถึง 12,500 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่นำมาแก้ไขปัญหาวาล์วลอยตัวที่รอบสูงๆ ในเครื่องยนต์ที่ใช้สำหรับการแข่งขันในขณะนั้น ระหว่างปี 1955-1956 ดูคาติได้นักแข่งชื่อ “Gianni Degli Antoni” ซึ่งเป็นแชมป์หลายรายการมาเข้าร่วมทีม และในปี 1956 บริษัทดูคาติ ได้เปิดตัวรถรุ่น Desmo 125 GP เป็นครั้งแรก
ในช่วงปี 1958 ทางดูคาติได้วางแผนจะผลิตมอเตอร์ไซค์รุ่น Elite 200 cc ออกมา ทางวิศวกร Fabio Taglioni ยังคงใช้ระบบ Desmodromic ที่ตัวเองพัฒนามาตั้งแต่แรก และพัฒนาต่อจากรุ่น Marianna แต่ขณะนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอิตาลีทำให้ยอดการขายมอเตอร์ไซค์ประสบปัญหาไปด้วย การวางขายจีงเลื่อนออกไปจนในที่สุด ปี 1965 ได้ออกขายมอเตอร์ไซค์รุ่นนี้เป็นครั้งแรก จากโครงการนี้เองทำให้ ในช่วงปี 60 บริษัท Ducati กลายเป็นบริษัทแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถพัฒนาและสร้างรถมอเตอร์ไซค์ขนาดกระบอกสูบ 250 cc ซึ่งนับว่าเร็วที่สุดในยุคนั้นออกมา และในปี 1960 นักแข่งรถชื่อดังชาวอังกฤษ Mike Hailwood ได้รับฉายาว่า “Superior” ซึ่งชนะการแข่งหลายรายการ และได้สั่งทำรถแข่งกับดูคาติในรุ่น 250 Twin-Cylinder Desmo
ในขณะเดียวกันตั้งแต่ปี 1960 ที่ประเทศอิตาลีประสบปัญหาทางเศรษฐกิจส่งผลทำให้ยอดขายมอเตอร์ไซค์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในขณะนั้นเริ่มมีการผลิตรถยนต์ออกขายเป็นครั้งแรกของบริษัท Fiat ชื่อว่า Fiat 500 ทำให้ความนิยมรถมอเตอร์ไซค์ลดลง ส่งผลให้บริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์สำหรับแข่งขันต้องปิดกิจการลงรวมทั้ง Gilera, Moto Guzzi และ Mondial ดังนั้นบริษัท Ducati จึงต้องปรับกลยุทธ์หันไปเน้นตลาดต่างประเทศแทน ต่อมาในปี 1963 ก็พัฒนารถออกมาชื่อ Ducati Apollo 1260 ซึ่งเน้นตลาดผู้ใช้ชาวอเมริกันเป็นหลัก
ก้าวสู่ยุคเครื่องยนต์ L-Twin
ทาง Ducati ก็ยังผลิตรถออกมาอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั้งในปี 1967-1978 บริษัท Ducati ได้เปลี่ยนผู้บริหารเป็นกลุ่ม EFIM (Ente Partecipazioni e Finanziamento Industrie Manifatturiere หรือ กลุ่มเงินทุนเพื่ออุตสาหกรรมการผลิต) ซึ่งจะควบคุมการดำเนินการผลิตแบบวันต่อวัน โดยที่ในปี 1967 – 1973 ผู้บริหารในช่วงปีนั้นคือ จูเซปเป้ มอนทาโน และ ในปี 1973-1978 บริหารโดย คริสเตียโน ดา เอ็คเคอร์
ในช่วงปี 70 บริษัทก็เริ่มสายการผลิตรถเครื่อง L-Twin เช่น รุ่น 90 L-twin ส่วนของตัวรถจะทำเป็นรูปตัว L ระบบ twin-cylinder engine (L-Twin) ออกแบบโดย Fabio Taglioni เจ้าเดิม ฤดูในไม้ร่วงในปี 1970 Ducati ได้เปิดตัว Ducati 750 GT ซึ่งได้ทำการพัฒนามาจากระบบ L-twin โดยพัฒนาเครื่องยนต์เป็นระบบ 90 L-twin เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ในปี 1972 ดูคาติได้ผลิตรถแข่งรุ่น Ducati 750 Imola Desmo เป็นอีกรุ่นที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะนักแข่งรถที่รู้จักกันดีคือ Paul Smart และ Bruno Spaggiari ได้ใช้รถรุ่นนี้ชนะการแข่งขัน “200 Mile race” ที่เมือง Imola ในปี 1972 ส่งผลให้รถรุ่นนี้เป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ และในเดือนพฤศจิกายน 1973 ก็ได้เปิดตัว L-twin ที่มาพร้อมวาล์ว Desmodromic เป็นรายแรก Ducati 750 SS Desmo ที่เมืองมิลาน ในงาน Milan Motorcycle Show ซึ่งพัฒนาจาก Ducati 750 Imola Desmo ที่ประสบความสำเร็จในสนามแข่ง แต่มียอดการผลิตเพียง 401 คันเท่านั้น
ต่อมาในปี 1993 การออกแบบของ Miguel Angel Galluzzi , ได้ถือกำเนิดเจ้าสัตว์ประหลาดสีแดงขึ้นมาอย่าง Monster ในขณะนั้นกระแสความนิยมยังคงอยู่ที่ รถสปอร์ตสไตล์รถแข่งในสนามแต่สำหรับ Monster ทีมออกแบบ ได้คิดนอกกรอบสวนทางกับความนิยมในช่วงนั้น เน้นการออกแบบที่ดูไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย ขับขี่ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะสูงมากนัก ถึงแม้ว่าดีไซน์ของ Monster จะดูเรียบง่ายแต่ก็แฝงด้วยเทคโนโลยีระดับสูง โดยเฉพาะการใช้สเปซเฟรม (Space Frame) บวกกับเครื่องยนต์ L-Twin อันเป็นเอกลักษณ์ของ Ducati ทำให้ Monster กลายเป็นเทรนด์ใหม่ของรถบิ๊กไบค์ในปัจจุบัน
Ducati ในประเทศไทย
สำหรับ Ducati ในประเทศไทยนั้นได้เริ่มมีบทบาทในช่วงปี 2003 – 2005 บริษัท ดูคาติ ประเทศไทย จำกัด (Ducati Thailand) ได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ และนำรถรุ่น Multistrada 1000 DS เข้ามาจำหน่ายเป็นรุ่นแรกที่โชว์รูมบนถนนรามคำแหง และได้รับการสนับสนุนจาก Ducati Motor Holding spa ทำให้สามารถจำหน่ายในราคาที่น่าสนใจจนเติบโตในตลาดเรื่อยมา และสร้างยอดขายเพิ่มจาก 12 คันในปีแรกเป็น 30 คันในปี 2005 พร้อมกับย้ายโชว์รูมมาที่ซอยทองหล่อในปี 2006
บนเวทีการแข่งขันรถมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลก ไม่ว่าจะเป็นรถโปรดักส์ชั่น หรือรถต้นแบบ Ducati ก็เข้าร่วมการแข่งขันด้วยแทบทุกรายการ เริ่มต้นที่รายการ WorldSBK ตั้งแต่การเข้าร่วมแข่งขันมา รถ Ducati สามารถคว้าแชมป์โลกไปทั้งสิ้น 18 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2022 สำหรับในรายการ MotoGP ด้าน Ducati เคยคว้าแชมป์โลกมา 2 ครั้งนั่นก็คือในปี 2007 โดย นักแข่งชาวออสเตรเลีย เคซี่ สโตนเนอร์ และในปี 2018 โดยนักแข่งชาวอิตาลีชื่อ แอนเดรีย ดอวิโยโซ่
กระแสรถพลังงานไฟฟ้า
แน่นอนว่าปัจจุบันรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่จับตามองของเหล่าบริษัทผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็คือ Ducati พวกเขาไม่ได้นิ่งนอนใจการพัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยอยู่ภายใต้โครงการ Ducati Zero ซึ่งทาง Ducati มีการประกาศว่าจะเปิดตัวและผลิตจริงในปี 2025 ซึ่งก็ต้องรอติดตามกันต่อไปครับ
และนี่ก็คือเรื่องราวการเดินทางเป็นเวลาเกือบ 100 ปี จากอุปกรณ์วิทยุสื่อสาร กลายมาเป็นรถมอเตอร์ไซค์สมรรถนะสูง ที่เป็นที่น่าจดจำอันดับต้นๆ ในวงการมอเตอร์สปอร์ตนั่นเองครับ
ทาง Realtime car magazine ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามารับชมกันนะครับ และยังสามารถไปติดตามเราต่อได้ที่นี่เลย
Website : http://www.realtimecarmagazine.com/newsite/
Facebook : https://www.facebook.com/realtimecarmagazinecom/
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCeamIIu312yD-jYJUzOd7kQ
Twitch TV : https://www.twitch.tv/realtimecarmagazine
Blockdit : https://www.blockdit.com/pages/5ed70c2d713f890cbc006f05
instagram : https://www.instagram.com/realtimecar_magazine/
Tiktok : https://vt.tiktok.com/ZSmSrdsB