REGULATOR ทำงานยังไงไปดูกัน..!!!

REGULATOR ทำงานยังไงไปดูกัน..!!!

          เรื่องราวเกี่ยวกับรถยนต์ คุยยังไงก็ไม่จบไม่สิ้นซะที มีเรื่องราวให้ได้พูดคุยกันทุกเรื่องจริงๆครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความสวยงาม เรื่องของเครื่องยนต์ เรื่องของความแรง ระบบต่างๆภายในตัวรถ รายละเอียดมันชั่งเยอะเหลือเกิน และสำหรับในคอลัมน์นี้ครับ เราจะพาไปทำความรู้จักกับอุปกรณ์หนึ่งชนิดที่อยู่ในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ ไปดูกันครับว่ามันมีหน้าที่ทำอะไร ทำไมรถเดิมก็มี รถซิ่งก็ชอบปรับแต่งกันไปหาคำตอบกันครับ

          เรามาทำความรู้จักกับ REGULATOR กันก่อนเลยครับว่ามันมีหน้าที่ ที่สำคัญที่สุดในระบบน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะทำการปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงในรางหัวฉีดให้เหมาะสมกับการทำงานในแต่ละช่วงรอบการทำงานในขณะนั้นๆ โดยการควบคุมแรงดันน้ำมัน ที่ส่งมาจากปั๊มแรงดัน ผ่านกรองเบนซินเข้ายังรางหัวฉีด ผ่านตัวเร็กกูเรเตอร์ และไหลกลับสู่ถังน้ำมันเชื้อเพลิง

          REGULATOR จะทำงานร่วมกับสุญญากาศภายในท่อร่วมไอดี โดยจะสังเกตุว่าเร็กกูเรเตอร์ แต่ละตัวนั้นจะมีท่อสำหรับต่อสายเข้าไปยังท่อร่วมไอดี ด้านหลังลิ้นปีกผีเสื้อ และจะทำงานสัมพันธ์กันกับลิ้นเร่ง ลิ้นเร่งเปิดน้อย สุญญากาศในท่อก็จะมีมาก ลิ้นเร่งเปิดมาก สุญญากาศก็จะน้อย แรงสุญญากาศที่มาก หรือน้อยนี่แหล่ะครับ จะคอยควบคุมแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงให้สม่ำเสมอเพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ ไม่ว่าลิ้นเร่งจะเปิดมากหรือน้อยเร็กกูเรเตอร์ เริ่มทำงานนับตั้งแต่บิดสวิทช์กุญแจไปที่ “ON” ปั๊มน้ำมันจะส่งน้ำมันมายังรางหัวฉีด และเร็กกูเรเตอร์จะปิด แรงดันในรางหัวฉีดจะสูงมาก ที่เป็นอย่างนั้นเพื่อให้การฉีดน้ำมันในการสตาร์ทเครื่องครั้งแรกมากกว่าปกติ ทำให้เครื่องยนต์สตาร์ทง่าย และเมื่อเครื่องยนต์ติดแล้ว ในรอบเดินเบาจะมีสุญญากาศมาก เร็กกูเรเตอร์ก็จะเปิดมากให้น้ำมันเชื้อเพลิงไหลกลับถังมาก ช่วยให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเริ่มเหยียบคันเร่ง เครื่องยนต์ต้องการปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น เพื่อเร่งรอบเครื่องยนต์ให้สูงขึ้น โดยกล่อย ECU จะได้รับข้อมมูลจากเซนเซอร์ต่างๆของเครื่องยนต์มาประมวลผล และสั่งให้หัวฉีดฉีดน้ำมันเพิ่มมากขึ้น แรงดันในรางหัวฉีดจะลดลง ถ้าไม่มีเร็กกูเรเตอร์ ในช่วงที่เร่งรอบเครื่องยนต์ ลิ้นปีกผีเสื้อจะเปิดกว้างขึ้น ทำให้สุญญากาศในท่อร่วมไอดีลงลง ส่งผลให้เร็กกูเรเตอร์ปล่อยให้น้ำมันไหลกลับถังน้อยลง ทำให้ในรางหัวฉีดมีแรงดันน้ำมันเพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ เมื่อเราถอนคันเร่ง ในท่อร่วมก็จะมีสุญญากาศมาก เร็กกูเรเตอร์ก็จะปล่อยน้ำมันออกมาก และจำทำงานเช่นนี้ตลอด แรงดันน้ำมันก็จะสูง ต่ำตามความต้องการของเครื่องยนต์

          โดยปกติแล้ว เครื่องยนต์แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อนั้นความต้องการแรงดันในรางหัวฉีดนั้นจะแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วแรงดันที่ต้องการจะอยู่ในราวๆ 2.5-3.5 บาร์ หรือราว 36-50 Psi เพื่อให้การจ่ายน้ำมันเข้าห้องเผาไหม้เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเร็กกูเรเตอร์จึงเป็นตัวสำคัญในการรักษาแรงดันในรางหัวฉีดให้มีแรงดันสม่ำเสมอตามความต้องการของเครื่องยนต์ในแต่ละช่วงรอบนั้นๆ

          เร็กกูเรเตอร์ก็เหมือนชิ้นส่วนอื่นๆของเครื่องยนต์ที่มีการใช้งานก็อาจเกิดการเสียหายได้เหมือนกัน โดยเฉพาะที่แผ่นไดอะแฟมที่เป็นตัวหลักในการควบคุมแรงดันและต้องสัมผัสกับน้ำมันอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้ผ้าเปื่อยขาด ทำให้วาล์วเปิดค้างหรือเปิดให้น้ำมันไหลน้อย ส่งผลให้แรงดันในรางหัวฉีดผิดปกติ และทำให้เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง เร่งไม่ขึ้นและสตาร์ทติดยากได้เหมือนกัน ส่วนการจะเปลี่ยนใช้ของใหม่แทนตัวเก่า หรือจะเปลี่ยนตัวใหม่ ติดตั้งใหม่ อันนี้ก็แล้วแต่ความสะดวกของผู้เป็นเจ้าของรถ และทุนทรัพย์ในการซ่อมบำรุง เร็กกูเรเตอร์ที่ติดมากับเครื่องยนต์นั้น ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานได้ดีกับเครื่องยนต์ตัวนั้นๆแล้ว และเครื่องยนต์ไม่ได้รับการปรับแต่งโมดิฟายอะไรเพิ่มเติม เร็กกูเรเตอร์ “เดิม”นั้นรับรองว่าเพียงพอกับความต้องการการใช้งานอยู่แล้วครับ

          สำหรับเครื่องยนต์เทอร์โบที่ต้องการแรงดันในรางหัวฉีดมากกว่าเครื่องยนต์ที่ไม่มีเทอร์โบ ก็มีการติดตั้งเร็กกูเรเตอร์เช่นเดียวกัน แต่จะสร้างแรงดันให้พอเพียงในการบูสท์ของเทอร์โบได้ดี หรือแม้แต่จะเปลี่ยนเทอร์โบลูกใหญ่ขึ้น ปรับบูสท์ให้สูงขึ้น เร็กกูเรเตอร์เดิมสามารถรองรับในจุดนี้ได้เพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์อยู่แล้ว และบางครั้งเร็กกูเรเตอร์เดิมยังทำงานได้ดีกว่าเร็กกูเรเตอร์ปรับได้บางรุ่นเสียอีก ดังนั้นบางครั้งควรมาใส่ใจในเรืองอื่นมากกว่า เช่น การเพิ่มขนาดหัวฉีดให้มีการฉีดน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ท่อทางเดินน้ำมัน กรองเบนซิน หรือปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงครับ

            เป็นยังไงกันบ้างครับกับเรื่องราวของเร็กกูเรเตอร์ เมื่อได้อ่านบทความกันแล้วก็อย่าลืมนำไปใช้กับรถคันโปรดของท่านอย่างถูกวิธีกันด้วยนะครับ เพื่อที่จะรักษารถให้อยู่กับเราได้นานขึ้นครับ