ว่ากันด้วยเรื่องของระบบน้ำมันเชื้อเพลิง

ว่ากันด้วยเรื่องของระบบน้ำมันเชื้อเพลิง

            ในยุคแห่งการเรียนรู้ เรื่องบางเรื่องเราอาจไม่จำเป็นต้องรู้แต่เรื่องบางเรื่องเราก็ควรจำเป็นต้องรู้ แต่สำหรับในยุคนี้แล้วเราควรรู้ให้ได้มากที่สุด ถ้าเกิดอะไรขึ้นเราจะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที ก็เหมือนกับรถที่เราขับใช้งานกันอยู่ทุกวันนี่แหละครับ เราควรที่จะรู้ไว้บ้างว่าในแต่ละส่วนของเครื่องยนต์มันทำงานยังไง เข้าใจถึงระบบการทำงานบ้าง เผื่อวันนึงรถที่เราขับเกิดมีปัญหาหรือเสียกลางทาง จะได้กินข้างลิงแบบมีองค์ความรู้กันบ้าง ก็เกริ่นกันมาซะยืดยาว สำหรับในคอลัมน์นี้ครับเราจะพาไปรู้จักการทำงานของระบบน้ำมันเชื้อเพลิงกันครับว่าในระบบนี้มันทำงานยังไงบ้างถึงทำให้รถสตาร์ทติดและวิ่งได้

            ระบบน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งในการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งถ้าเครื่องยนต์ไม่มีระบบน้ำมันเชื้อเพลิงก็ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เพราะฉะนั้นระบบน้ำมันเชื้อเพลิงจึงเป็นหัวใจสำคัญของระบบการทำงานของเครื่องยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิงนั้นจะถูกเก็บไว้ในถังน้ำมันเชื้อเพลิงและจะถูกถึงออกมาใช้เมื่อเครื่องยนต์เริ่มทำงาน

  • ถังน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้สำหรับเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงหรือมีไว้เพื่อสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในขณะที่เดินทางขับขี่ ตำแหน่งของถังน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่ด้านใต้ท้องรถค่อนไปทางด้านหลังไม่ฝั่งซ้ายก็ฝั่งขวา แล้วแต่ยี่ห้อรถ
  • หม้อกรองน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จัดว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าเราไปเจอน้ำมันที่ไม่สะอาด ไอ้เจ้าหม้อกรองน้ำมันเชื้อเพลิงนี่แหละจะช่วยรักษาชีวิตเครื่องยนต์ของเราเอาไว้ได้ สิ่งสกปรกหรือตะกอนทั้งหลายจะถูกดักไว้ด้วยหม้อกรองน้ำมันเชื้อเพลิง
  • ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง มีหน้าที่สร้างแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปสู่ระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงจะสามารถสร้างแรงดันได้ตามความต้องการของเครื่องยนต์
  • คาร์บูเรเตอร์ (สำหรับเครื่องเบนซินที่ใช้คาร์บูเรเตอร์)
  • หัวฉีด (สำหรับเครื่องยนต์เบนซินระบบหัวฉีด และเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ปั๊มหัวฉีด) มีหน้าที่จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ จะทำงานควบคู่กับปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง
  • หม้อกรองอากาศ มีหน้าที่กรองฝุ่นผงไม่ให้ผ่านเข้าไปสู่กระบวนการเผาไหม้ของเครื่องยนต์
  • ท่อร่วมไอดี มีหน้าที่ส่งผ่านอากาศเข้าไปสู่ห้องเผาไหม้ช่วยให้การทำงานของเครื่องยนต์มีความสมบูรณ์

                  เมื่อเครื่องยนต์เริ่มทำงาน ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Pump) ก็จะทำการสูบน้ำมันจากถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ผ่านมาทางท่อน้ำมันเข้าที่หม้อกรองน้ำมันเชื้อเพลิง (Fuel Filter) เพื่อกรองสิ่งสกปรกที่อาจติดมากับน้ำมัน จากนั้น น้ำมันก็จะถูกส่งผ่านมาที่ตัวคาร์บูเรเตอร์ (Carburetor) หรืออาจเป็นระบบหัวฉีดน้ำมันอิเล็คทรอนิคส์ ในขณะที่ลูกสูบในกระบอกสูบ กำลังเคลื่อนตัวลงสู่ตำแหน่งศูนย์ตายล่าง ตามจังหวะการทำงานที่ ประจวบกับวาล์วไอดีเปิด ทำให้มีแรงดูดอากาศเข้ามาในกระบอกสูบ อากาศจากภายนอกรถยนต์ จะเข้ามาทางหม้อกรองอากาศเพื่อกรองสิ่งสกปรก จากนั้นอากาศ ก็จะผ่านเข้ามาทางคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งในคาบูเรเตอร์ จะมีน้ำมันเชื้อเพลิงมารออยู่แล้ว แรงดูดอากาศ ที่เกิดจากการที่ลูกสูบ เคลื่อนที่ลงสู่ตำแหน่งศูนย์ตายล่างนั้น จะทำให้อากาศกับน้ำมัน ผสมเข้าด้วยกัน ในปริมาณ และสัดส่วนพอเหมาะ (ตามที่กำหนดไว้) แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่ท่อร่วมไอดี ผ่านเข้าทางวาล์วไอดี ที่เปิดรออยู่ ซึ่งขณะนี้เชื้อเพลิงเข้ามาสู่กระบอกสูบแล้ว และลูกสูบจะเคลื่อนที่ ขึ้นสู่ตำแหน่งศูนย์ตายบนอีกครั้ง ในจังหวะการทำงานที่ 2 ต่อไป

               และนี่ก็คือการทำงานของระบบน้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ทั่วไป สำหรับในคอลัมน์หน้า จะมีการนำเสนอรูปแบบของระบบน้ำมันเชื้อเพลิงแบบรถซิ่งหรือในรูปแบบของรถแข่งมาให้ได้ดูกัน ซึ่งจะสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนกันเลยทีเดียวเกี่ยวกับระบบน้ำมันเชื้อเพลิง