Ball Bearing Turbo (บอลแบริ่งเทอร์โบ) เป็นอย่างไร ทำไมถึงนิยมใช้กัน?

Ball Bearing Turbo (บอลแบริ่งเทอร์โบ) เป็นอย่างไร ทำไมถึงนิยมใช้กัน?

          เมื่อพูดถึงเทอร์โบ เหล่าบรรดาขาซิ่งทั้งหลายก็คงรู้จักกันกันดีถึงคุณสมบัติในการช่วยให้การทำความเร็วของรถมีเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่เทอร์โบนั้นก็มีหลายแบบให้เลือกใช้กัน และในคอลัมน์นี้เราจะมาพูดถึงตัวที่ดูเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบันคือ เทอร์โบแบบบอลแบริ่ง จะเป็นอย่างไร มาหาคำตอบกัน

          “บอลแบริ่ง” เป็นแบบที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน พัฒนามาเพื่อแก้จุดอ่อนของระบบ Journal Bushing ซึ่งสมัยแรกเริ่มจะมีใช้ในเทอร์โบ IHI นิยมมากที่สุดในซูบารุ และ GARRETT ซึ่งตอนนั้นยังแพงอยู่มาก แต่ตอนหลังเริ่มพัฒนาขึ้นมา จะเห็นได้ว่ารถสปอร์ตญี่ปุ่นยุค 90 ปลายๆ ก็จะใช้เทอร์โบ Ball Bearing จากโรงงานกัน เช่น NISSAN SILVIA S15 หรือ SKYLINE GT-R R34 ซึ่ง NISSAN เป็นแบรนด์ที่ใช้เทอร์โบ GARRETT หรือไปถึงเทอร์โบ HKS เช่นเดียวกันอย่างพวก GT 2835 ขึ้นไปถึง T51R BB ซึ่ง BB มันก็มาจาก Ball Bearing นั่นเอง ทาง HKS ก็จะร่วมมือกับทาง GARRETT ในการผลิตโข่งเองให้เป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบัน Ball Bearing ก็จะนิยมกันมากๆ ยิ่งทำเยอะ ราคาก็จะถูกลงกว่าแต่ก่อน อะไหล่ก็แพร่หลายมากขึ้นจากหลายๆ แหล่ง ซึ่งก็มีข้อดีดังนี้…

มีความลื่นสูง เนื่องจากเป็นระบบลูกปืน ทำให้ “บูสต์มาเร็วขึ้น” สามารถใช้เทอร์โบขนาดใหญ่ขึ้นอีกสเต็ปได้ การเสียดสี ความร้อนสะสมจะต่ำลง

การป้องกันการ “รุน” หรือ “แกว่ง” ทำได้ดี เพราะตัวลูกปืนมันออกแบบมาเป็นกันรุนและกันแกว่งในตัวอยู่แล้ว ระยะ Clearance ก็มีน้อยกว่าแบบบู๊ช ทำให้การหมุนในรอบสูงเสถียรกว่า แม้ว่าใบจะเกิดการไม่สมดุลอยู่บ้าง

ชิ้นส่วนน้อยลง เพราะมีแต่ตัวลูกปืนกับแกน ไม่ต้องมีชิ้นส่วนกันรุนเหมือนแบบบู๊ช

ไม่ต้องการน้ำมันเครื่องมาเลี้ยงมากนัก เพราะตัวแกนมันหมุนบนลูกปืน  ทำให้โอกาสน้ำมันรั่วจึงมีน้อยกว่า

  • สำหรับ “รางลูกปืน” ถ้าเป็นรุ่นก่อนๆ จะใช้วัสดุ “Thermo Plastic” พอใช้ไปนานๆ เริ่มเสื่อม พอร้อนมากๆ มันขยายตัว ทำให้เกิดการรุนที่มากขึ้น ปัจจุบัน ถ้าเทอร์โบรุ่นท็อปๆ จะใช้รางลูกปืนที่เป็น “โครเมียม” ชุบด้วย “เงิน” ทำให้เกิดความแข็งแรงและความลื่นสูงกว่า

  • สำหรับตัวลูกปืน สมัยก่อนก็เป็นลูกปืนเหล็ก “Tungsten” (ทังสเตน) ซึ่งก็ถือว่าแข็งมากอยู่แล้ว ตอนหลังพวก GARRETT GT40 ก็จะเปลี่ยนลูกปืนเป็น “Ceramic” และบางแบรนด์ที่แพงๆ ก็พัฒนาไปเป็นพวก “Nickel” (นิกเกิล) ซึ่งก็จะทนทานและลื่นขึ้นอีก…

          เป็นอย่างไรกันบ้างกับเนื้อหาสาระที่นำมาฝากกันวันนี้ หวังว่าสายซิ่งทุกท่านที่รักในความเร็วก็คงได้รู้มากขึ้นว่าเทอร์โบแบบที่ใช้กันนี้มีการทำงานและที่มาอย่างไร อีกทั้งยังเป็นตัวเลือกให้นำมาเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม แต่อยากให้ทุกท่านพึงตระหนักไว้ว่าการขับรถซิ่งควรขับในสนามดีกว่า ไม่ทำเดือดร้อนให้แก่คนทั่วไปแล้วยังมีการแข่งขันที่ได้เงินรางวัลอีกด้วย คอลัมน์ต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร ติดตามกันได้เร็วๆนี้