พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร? มีประโยชน์แค่ติดหน้ารถแค่นั้นจริงหรือ!!?

พ.ร.บ. รถยนต์ คืออะไร? มีประโยชน์แค่ติดหน้ารถแค่นั้นจริงหรือ!!?

          หลายคนอาจสงสัยว่า เวลาเราซื้อรถมาคันนึง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ มักจะถูกบังคับจากพนักงานขายรถบอกให้เราทำ “พ.ร.บ. รถยนต์” บางคนอาจทราบแค่ว่า มีติดไว้ที่หน้ารถ เพื่อเวลาโดนตรวจจะได้ไม่ถูกตำรวจปรับ ในคอลัมน์นี้เราจะมาพูดถึง พ.ร.บ. รถยนต์กันว่าคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

          พ.ร.บ. รถยนต์ คือ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยรถทุกคันจะถูกบังคับให้ทำพ.ร.บ. นี้ โดยพ.ร.บ. รถยนต์ จะให้ความคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น แต่จะรับผิดชอบต่อบุคคลเท่านั้น ไม่รับผิดชอบต่อตัวรถยนต์แต่อย่างใด พ.ร.บ. รถยนต์นี้รถทุกคันบังคับให้ทำ หากไม่ทำจะมีความผิดทางกฎหมาย คือ มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทำแล้วไม่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

          แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา เราจะได้รับอะไรบ้าง

ค่าเสียหายเบื้องต้น

          ก่อนที่จะได้ตรวจสอบถึงเรื่องถูกผิด ไม่ว่าจะกรณีใดๆก็ตาม หากมีผู้บาดเจ็บ ทางพ.ร.บ. จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ก่อน ไม่เกิน 30,000 บาท หากมีผู้ใดทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต จะจ่ายให้ไม่เกิน 35,000 บาท

          ค่าสินไหมทดแทน คือเงินชดเชยที่เราจะได้รับ หลังมีการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ว่าเราเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น เราจะได้รับ ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมาเป็น ไม่เกิน 80,000 บาท (เพิ่มมาอีก 50,000 บาท ) และสำหรับผู้ทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต จะได้วงเงินเพิ่มไม่เกิน 300,000 บาท (เพิ่มมาอีก 265,000 บาท)

          สำหรับ เอกสารที่จะต้องใช้เวลาการเคลม พ.ร.บ. มีดังนี้

กรณีบาดเจ็บ

  1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
  2. ใบเสร็จรับเงินต้นฉบับ

กรณีเบิกค่าชดเชย หรือ ผู้ป่วยใน

  1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
  2. ใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน

กรณีทุพพลภาพ

  1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
  2. ใบรับรองแพทย์และหนังสือรับรองความพิการ
  3. สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน หรือ หลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นได้รับความเสียหายจากการประสบภัยจากรถ

กรณีเสียชีวิต

  1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ประสบอุบัติเหตุ
  2. ใบมรณบัตร
  3. สำเนาบัตรประชาชนทายาทสำเนาทะเบียนบ้าน
  4. สำเนาบันทึกประจำวันในคดีของพนักงานสอบสวน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงว่าผู้นั้นถึงแก่ความตาย เพราะการประสบภัยจากรถ

          เมื่อเตรียมเอกสารเรียบร้อยแล้ว สามารถทำเรื่องขอเบิกเงิน จากบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่เราซื้อพ.ร.บ.มา ซึ่งสามารถดูได้ทีกรมธรรม์ และ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ได้ทุกสาขาทั่วประเทศ สำหรับรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะมีการเบิกจ่ายเงินภายใน 7 วัน โดยพ.ร.บ. จะคุ้มครองผู้เสียหายในส่วนของคนเท่านั้น ส่วนทรัพย์สิน หรือ ตัวรถจะไม่ได้รับการคุ้มครอง

          เชื่อว่าหลายคนคงได้ทราบถึงประโยชน์ พ.ร.บ.รถยนต์แน่นอนครับ เพราะไม่ใช่แค่ติดหน้ารถยนต์ แต่ยังมีไว้คุ้มครองเราอีกด้วย ใครที่ขาดทะเบียนพ.ร.บ. แนะนำให้ไปต่อเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตรงนี้นะครับ และจะได้ไม่ผิดกฎหมายด้วย หวังว่าคอลัมน์นี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่านนะครับ