บ๊อชสยายปีกขึ้นแท่นผู้นำ IoT แห่งยุค ภายในงาน CES 2019

บ๊อชสยายปีกขึ้นแท่นผู้นำ IoT แห่งยุค ภายในงาน CES 2019

          เทคโนโลยี IoT กำลังเปลี่ยนแปลงโลกมากขึ้นทุกขณะ ดังที่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนที่งานแสดงนวัตกรรมและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2019 (2019 Consumer Electronics Show: CES) ซึ่งจัดขึ้นที่นครลาสเวกัส โดยบ๊อชได้จัดแสดงเทคโนโลยีต่างๆ ของบริษัทฯ ที่นำมาใช้ได้จริงในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่แนวคิดการออกแบบยานพาหนะขนส่งสาธารณะที่ทำให้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนเกิดขึ้นได้จริง ไปจนถึงตู้เย็นที่มีระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะที่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บและสำรองอาหารในตู้เย็นได้ และแม้กระทั่งเครื่องตัดหญ้าอัจฉริยะที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาการทำงานจากการใช้งานจริงได้ แสดงให้เห็นถึงความตระการตาของโซลูชั่นส์จากบ๊อช ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงที่งานแสดงสินค้าอิเลคทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งนี้

          “บ๊อชมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี IoT มาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น เราจึงได้วางแนวทางการพัฒนาโลกแห่งการเชื่อมต่ออย่างจริงจังมาเกือบหนึ่งทศวรรษแล้ว” ดร. มาร์คัส เฮย์น หนึ่งในคณะกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าว “ปัจจุบัน เราเป็นบริษัทชั้นนำในด้าน IoT โดยเราเสริมสร้างความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และ IoT มาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” การที่บ๊อชมีระบบคลาวด์ IoT เป็นของตัวเอง ช่วยให้บริษัทฯ สามารถพัฒนาโครงการต่างๆ มากกว่า 270 โครงการ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อน สมาร์ทโฮม สมาร์ทซิตี้ และเกษตรกรรม ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบ Bosch IoT Suite ที่เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 40 มาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยถึงตอนนี้มีจำนวนเซ็นเซอร์ที่บ๊อชผลิตรวมราว 8.5 ล้านชิ้น

          หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้าน IoT คือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ซึ่งบ๊อชส่งเสริมการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง “เราจะปลดล็อกศักยภาพของเทคโนโลยี IoT ได้อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อได้เชื่อมโยงมันเข้ากับเทคโนโลยีเอไอ จึงต้องมีการพัฒนาโครงการด้าน IoT และเอไอควบคู่กันไป” มร. เฮย์น กล่าว ซึ่งเขามีความเห็นว่าเทคโนโลยีทั้งสองนี้ต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน “เทคโนโลยี IoT ต้องการเชาวน์ปัญญา การใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้ในการรวบรวมข้อมูล จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีเอไอเท่านั้นที่สามารถทำให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกันได้มีเชาวน์ปัญญา จนสามารถเรียนรู้ที่จะคิดวิเคราะห์หาข้อสรุปและประมวลผลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เหนือสิ่งอื่นใด เรามุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในแต่ละวันให้ดียิ่งขึ้น มีเวลามากขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น รวมทั้งมีประสิทธิภาพและความสะดวกสบายยิ่งขึ้น”

          นอกจากนี้ มร. เฮย์น ยังยกตัวอย่างเครื่องตรวจจับควันระบบวิดีโอ โดยใช้ระบบวิเคราะห์ภาพแบบอัจฉริยะ และกล้องรักษาความปลอดภัยชนิดต่างๆ ที่ช่วยให้สามารถตรวจจับกองไฟภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งไวกว่าที่ตัวเซ็นเซอร์ของระบบจะสามารถตรวจจับความร้อนและควันไฟได้เสียอีก ระบบนี้ทำให้พบกองไฟได้อย่างรวดเร็วกว่าระบบเดิมมาก จึงช่วยเพิ่มเวลาที่จะปกป้องและรักษาชีวิตของผู้คน

          ปัจจัยที่สองในการกรุยทางความสำเร็จสู่ยุค IoT คือการเป็นพันธมิตร โดยบ๊อชร่วมงานกับทั้งผู้เล่นหน้าเดิมและหน้าใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ บ๊อชได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มสัญชาติแคนาดาชื่อ Mojio เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม IoT แบบบูรณาการเพื่อใช้กับยานยนต์ที่เชื่อมต่อกันได้ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ระบบอัลกอริทึมของบ๊อชจะระบุได้ว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ไหน เมื่อใด และรุนแรงเพียงใด ข้อมูลจะส่งผ่านบนระบบคลาวด์ของ Mojio ไปยังศูนย์บริการเหตุฉุกเฉินของบ๊อชอย่างรวดเร็ว พร้อมกับการโทรขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังศูนย์ให้ความช่วยเหลือของท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ และในขณะเดียวกัน ข้อความก็จะถูกส่งไปยังผู้รับที่มีการกำหนดตั้งค่าไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อความ หรือบนแอปฯ ของ Mojio “การร่วมมือกับ Mojio ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อยานยนต์ได้โดยตรงกับระบบคลาวด์ ซึ่งช่วยให้ความช่วยเหลือต่างๆ ไปถึงจุดเกิดเหตุได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก” มร. ไมค์ แมนซูเอตโต้ ประธานบริษัทบ๊อชในอเมริกาเหนือ กล่าวที่งาน CES ทั้งนี้ นับตั้งแต่กลางปีหน้า ผู้ขับยานยนต์ราว 1 ล้านรายในอเมริกาเหนือและยุโรป จะมีโอกาสได้ใช้โซลูชั่นเทคโนโลยี IoT สำหรับระบบฉุกเฉินแล้ว