รู้ไว้ใช่ว่า..!!ปลูกบ้านอย่างไรไม่กลัวแผ่นดินไหว

รู้ไว้ใช่ว่า..!!ปลูกบ้านอย่างไรไม่กลัวแผ่นดินไหว

          จะพูดไปแล้วเรื่องของแผ่นดินไหวเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทย แต่ก็ว่าไม่ได้นะครับสำหรับยุคสมัยนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ เรื่องบางเรื่องรู้เอาไว้ก็ไม่เสียหายอะไร ถึงแม้จะมองว่าไม่จำเป็นเท่าไหร่แต่ก็รู้ไว้ก็ดี เพื่อจะได้เตรียมเอาไว้รับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตข้างหน้าที่เราไม่สามารถจะคาดเดาได้ ถึงแม้ว่าเรื่องแผ่นดินไหวนั้นหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องที่อยู่ไกลกับประเทศไทยก็ตาม แต่ก็ไม่ควรที่จะมองข้ามนะครับ

            การออกแบบอาคารป้องกันแผ่นดินไหวจากการเก็บข้อมูลกว่า 30 ปี ในช่วงปี 1963-1993 พบว่าอาคารที่ใช้ระบบผนังแรงเฉือนต้านแรงด้านข้าง สามารถรับมือกับแผ่นดินไหวได้ดี และยืนอยู่ได้แม้อาคารอื่นๆ จะพังลง

            อาคารรูปแบบนี้สามารถรับมือได้ดีกว่าอาคารอื่นอย่างเห็นได้ชัด วิศวกรก็เลยสนใจในจุดนี้ และประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวก็ฟื้นฟูและสร้างอาคารใหม่ให้รองรับแรงได้มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ในประเทศชิลี นอกจากนี้แล้วอาคารทั่วไปที่ไม่ได้รับการออกแบบอย่างมีมาตรฐาน และตามหลักการก็มักจะเป็นสิ่งก่อสร้างแรกๆ ที่พังทลายลงมาก่อน แม้จะมีแผ่นดินไหวไม่แรงมาก แม้จะมีขนาดแผ่นดินไหวเพียง 4-5 เท่านั้น การออกแบบให้มีมาตรฐานและแข็งแรง ตัวอย่างเช่น ยึดรั้งชิ้นส่วน อย่าง เสากับฐานราก เสากับคาน ออกแบบเสาให้แข็งแรงมีขนาดโตพอ ยึดโยงส่วนอาคารกันโย้ และข้อต่อต่างๆ ให้แข็งแรง รวมถึงมีวิศวกรควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐาน

            ก่อนการสร้างบ้านให้ป้องกันแผ่นดินไหว วิศวกรจะต้องพิจารณาพื้นที่สภาพดินในเขตนั้น รวมถึงรูปแบบของอาคารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิบัติในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง โครงสร้างที่ดีควรจะวางตำแหน่งเสาให้มีความสมมาตรในแกนหลักทั้งตามยาวและตามขวางของอาคาร หากเป็นอาคารสูง ควรมีกำแพงรับแรงเฉือนหลายชิ้น วางในตำแหน่งที่กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอตลอดผังอาคาร โดยไม่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณเดียว

            ทิศทางการวางแนวผนัง ควรหันด้านยาวของผนังให้สามารถรับแรงด้านข้างจากแผ่นดินไหวได้ทั้งสองทิศทาง ทั้งตามยาวและตามขวางของอาคาร ดังตัวอย่างอาคารที่มีการจัดวางตำแหน่งเสาและกำแพงรับแรงเฉือนที่ดี

            นอกจากรูปแบบของอาคารที่เหมาะสมแล้ว ความแข็งแรงของโครงสร้างก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเสานอกจากจะรับน้ำหนักบรรทุกปกติ ซึ่งเป็นน้ำหนักของอาคารและน้ำหนักบรรทุกตามการออกแบบทั่วไปแล้ว เสาจะต้องมีกำลังรับน้ำหนักบรรทุกที่เพิ่มขึ้นในขณะเกิดแผ่นดินไหว เมื่อเปรียบเทียบขนาดเสากับอาคารทั่วไปแล้ว เสาอาคารต้านทานแผ่นดินไหว จะมีขนาดใหญ่กว่าและมีปริมาณเหล็กเสริมตามยาวของเสามากกว่า เพื่อรับน้ำหนักบรรทุกและการดัดตัวที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งต้านการเคลื่อนที่ทางด้านข้างด้วย และสิ่งที่สำคัญอีกอย่าง คือการเสริมเหล็กให้โครงสร้างมีความเหนียวพอเพียงในการต้านทานแรงแผ่นดินไหว โดยการจัดปริมาณการเสริมเหล็กตามยาวและเหล็กปลอกที่โอบรัดรอบเหล็กเสริมตาม ยาวของเสาและคานให้พอเพียง

            ส่วนการสร้างบ้านป้องกันแผ่นดินไหวในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้รับเหมาหลายรายที่นำเสนอบ้านป้องกันแผ่นดินไหวมาเป็นตัวเลือกของคนที่มีงบประมาณสูงขึ้นมาเล็กน้อย และอยากจะได้ความปลอดภัยพร้อมกับความสบายใจในการอยู่อาศัย ซึ่งสามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้สูงถึงระดับ 7 เพราะฉะนั้นเราก็คงจะมั่นใจได้ระดับหนึ่ง