สรุปประเด็นเดือด “สติกเกอร์ส่วยสิบล้อ” ด้านมืดบนท้องถนนที่เหมือนจะไร้ทางออก?

สรุปประเด็นเดือด “สติกเกอร์ส่วยสิบล้อ” ด้านมืดบนท้องถนนที่เหมือนจะไร้ทางออก?

       เป็นไวรัลเดือดจริงๆ ครับกับกรณีที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์กรณีรถบรรทุกหลายคัน ติดสติ๊กเกอร์พระอาทิตย์สีฟ้า และมีอีกหลากหลายรูปแบบ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า “ทำไมรถบรรทุกหายคัน ถึงมีสติ๊กเกอร์แบบนี้ติดเอาไว้ ดูแล้วก็เห็นจะเท่อะไร ไม่น่าจะใช่สติ๊กเกอร์ตกแต่งรถ” ดังภาพ

       ล่าสุด การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ออกคำชี้แจง ระบุว่า สติกเกอร์ดังกล่าว กทพ. ไม่ได้เป็นผู้จัดทำขึ้น และช่องทาง Easy Pass ของ กทพ. เปิดให้บริการเฉพาะรถ 4 ล้อ เท่านั้น รถบรรทุกมากกว่า 4 ล้อขึ้นไป รวมถึงรถ 4 ล้อ ที่ไม่มีบัตร Easy Pass ไม่สามารถผ่านช่อง Easy Pass ได้ในทุกกรณี นั่นหมายความว่า สติกเกอร์ดังกล่าว ไม่ใช่บัตรผ่านขึ้นทางด่วนแต่เป็นส่วยที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการตรวจจับปรับรถบบรรทุกออกอย่างไม่เป็นทางการเพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุกที่ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ?

       นายวิโรจน์ ระบุว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้า ได้นัดหมายหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการขนส่ง และกลุ่มรถบรรทุก เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ อย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องครอบคลุมทั้งการจัดการกับการรีดไถส่วยทางหลวง ระบบที่ตรงไปตรงมา มีความเป็นธรรมกับ ทั้งผู้ประกอบการรถบรรทุก และประชาชนผู้ขับขี่ยวดยานบนนเส้นทางหลวง ไปอย่างควบคู่กัน

“ถ้าเราขจัดปัญหานี้ได้ ผู้ประกอบกิจการขนส่ง ก็จะมีต้นทุนลดลง ซึ่งจะส่งผลให้สามารถตรึงราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนก็จะแบกรับภาระค่าครองชีพลดลง ในขณะเดียวกัน ถนนหนทางต่างๆ ก็จะชำรุดน้อยลง การขับขี่ยวดยานของประชาชนท่านอื่นๆ ก็จะปลอดภัยมากขึ้น ประหยัดงบประมาณที่ต้องใช้ในการซ่อมบำรุงถนนหนทางให้น้อยลง รัฐบาลก็จะมีงบประมาณไปปรับปรุง ให้ประชาชนได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้น” นายวิโรจน์ ระบุผ่านโพสต์เฟซบุ๊ก

“ผมย้ำว่า ขอให้เลิกได้แล้ว ถ้ายังดื้อจะทำต่อ เดี๋ยวผมจะหาทางให้ไปเปิดตัว Easy Pass ให้ครบทุกรุ่นที่ ป.ป.ช. อีกเรื่อง ไม่ต้องหาใครมาเคลียร์กับผม ไม่ต้องเอาเงินมาเสนอให้ผม ถ้ายังไม่ยอมเลิก ก็กอดเงินของคุณเอาไว้แน่ๆ แล้วรอให้ ป.ป.ง. มายึดทรัพย์ ดีกว่าครับ” นายวิโรจน์ กล่าว (ที่มา : Spring News)

แล้วทางด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรัฐบาลรักษาการณ์ ว่าอะไรบ้าง?

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ที่ผ่านมาก็ได้กล่าวถึงว่า “ได้สั่งการไปแล้ว ขณะนี้กำลังตรวจสอบอยู่” และ อีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงคือ ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ หน่วยงานต้นสังกัดของ ‘ตำรวจทางหลวง’

       พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยในวันที่ 28 พ.ค. 66 ว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งการให้กองบังคับการตำรวจทางหลวงตรวจสอบโดยด่วนว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีการกระทำผิดในรูปแบบส่วยทางหลวงตามที่ปรากฏตามข่าวหรือไม่ หากพบข้าราชการตำรวจ หรือบุคคลใดเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจทางหลวงได้รายงานให้ทราบว่า ได้ประสานข้อมูลกับสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย จนนำไปสู่การจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือความผิดอื่นๆ มาตลอด (ที่มา : Work Point Today)

       ล่าสุดวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้  จเรตำรวจตรวจสอบ ว่ามีข้าราชการตำรวจหน่วยใด กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวหรือไม่ หากพบว่ามีข้าราชการตำรวจหรือบุคคลใดทุจริตในเรื่องดังกล่าว หรือเข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำผิดกฎหมาย หรือให้การช่วยเหลือ สนับสนุน ปล่อยปละละเลย ให้สืบสวนรวบรวมหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงานข้อเท็จจริงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ หากพบว่าเกี่ยวข้องกับผู้ใด จะดำเนินการตามกระบวนการ ทั้งทางวินัย อาญา และปกครอง อย่างเด็ดขาดตามนโยบายด้วย

เพื่อดำเนินการกับขบวนการส่วยรถบรรทุกอย่างเด็ดขาด โดยสามารถแจ้งข้อมูลมาที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตรง หมายเลข 1599 หรือ จเรตำรวจ ผ่านระบบ JCOMS  หรือแจ้งร้องเรียนเพิ่มเติมตามช่องทาง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาตรา 43 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 ต.ค.65  ในการร้องเรียนข้าราชการตำรวจประพฤติมิชอบ หรือได้รับความเดือดร้อน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของตำรวจ หรือเห็นว่าตำรวจประพฤติไม่เหมาะสม เสื่อมเสียเกียรติของตำรวจ กระทำผิดวินัย หรือละเมิดประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ สามารถทำหนังสือร้องเรียน แจ้งไปยังคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) (ที่มา : สยามรัฐ)

       นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมอีกด้วยครับ จากการเสวนาวิชาการเรื่อง “อิทธิพลส่วยรถบรรทุกกับการคอรัปชั่น” เมื่อปี 2565 ระบุว่า ในแต่ละปีมีการจ่ายส่วยทางหลวงให้แก๊งอั้งยี่ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท และรูปแบบ วิธีการจ่ายส่วยในปี 2566 นี้ ก็ไม่ได้แตกต่างกัน และไม่เคยได้รับการแก้ไขปัญหาใดทั้งๆสิ้น

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ที่ปรึกษาสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า  “การจ่ายส่วยรถบรรทุกมีหลายรูปแบบ ในอดีตการจ่ายจะเป็นในลักษณะเหมาจ่าย คือ จ่ายครั้งเดียวหรือเหมาจ่าย ด้วยการติดสติกเกอร์รูปหนึ่งรถบรรทุกจะสามารถวิ่งได้ตลอดทั้งปี แต่ปัจจุบันการจ่ายส่วยมีลักษณะที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เปลี่ยนจากจ่ายรายปีเป็นจ่ายรายเดือน โดยสติกเกอร์ที่ติดอยู่ที่หน้ารถบรรทุกของผู้ประกอบการทุกรายก็จะเปลี่ยนรูปแบบและสีในทุกๆเดือน “

“ปัญหาที่อยากให้สังคมตระหนักมากกว่าการจ่ายส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก คือ ในแต่ละปี หรือทุกวันๆที่มีการปล่อยให้รถบรรทุกที่วิ่งเกินน้ำหนักวิ่งอยู่บนท้องถนน สร้างความเสียหายต่อถนน ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมถนนปีละมากกว่า 10,000 ล้านบาท ยังไม่รวมปัญหาอุบัติเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี“

“ปัญหาส่วยรถบรรทุกและการคอรัปชั่น เป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน และไม่เคยถูกแก้ไข แม้จะเปลี่ยนผบ.ตร.ไปหลายคนแล้วก็ตาม ไม่อยากให้หลงประเด็นว่า ตำรวจเงินเดือนน้อย จึงต้องหากินกับการเก็บส่วย หากใครก็ตาม หรือพรรคการเมืองใดที่แก้ปัญหานี้ได้ ทำให้ผู้ประกอบไม่ต้องจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ เราก็พร้อมให้ข้อมูลเพื่อให้เขาเข้าไปแก้ปัญหาให้”

       นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบการจ่ายส่วยเปลี่ยนไปจากเดิมโดยต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น รถบรรทุก 1 คัน จะต้องจ่ายประมาณ 10,000-27,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับปริมาณการบรรทุกน้ำหนัก ขณะนี้พบว่ามีรถบรรทุกจ่ายส่วยประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันมีรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประมาณ 1,400,000-1,500,000 คัน ในส่วนนี้เป็นสมาชิกสหพันธ์ขนส่งฯ ประมาณ 400,000 คัน

โดยส่วยสติกเกอร์จะมีการเปลี่ยนสีทุกเดือน “คนขับรถบรรทุก” ก็จะ”รู้กัน “กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวง” เพราะนอกจากจะไม่ถูกตำรวจเรียกตรวจจับแล้ว ยังมีการแจ้งความเคลื่อนไหวให้เจ้าของสติกเกอร์ทราบความเคลื่อนไหว และหลีกเลี่ยงเส้นทาง ในกรณีที่จะมีหน่วยงานออกตรวจสอบ ทางหลวงสายไหน วันใด เวลาเท่าใดถึงเท่าใด หรือกรณีที่คนขับรถบรรทุกพลาดพลั้งถูก กรมทางหลวงหรือเจ้าหน้าที่จับกุมในข้อหาบรรทุกน้ำหนักเกิน เจ้าหน้าที่ก็จะจัดการเคลียร์ให้ (ที่มา : Thai PBS)

และนี่ก็คือประเด็นทั้งหมดของสติกเกอร์เจ้ากรรมที่หลบซ่อนอยู่ในมุมมืดของท้องถนนมาอย่างยาวนาน ผู้อ่านทุกท่านคิดอย่างไรบ้าง โปรดแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ และเคารพความเห็นต่าง ด้วยนะครับ


ทาง Realtime car magazine ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามารับชมกันนะครับ และยังสามารถไปติดตามเราต่อได้ที่นี่เลย

Website : http://www.realtimecarmagazine.com/newsite/
Facebook : https://www.facebook.com/realtimecarmagazinecom/
Youtube : https://www.youtube.com/channel/UCeamIIu312yD-jYJUzOd7kQ
Twitch TV : https://www.twitch.tv/realtimecarmagazine
Blockdit : https://www.blockdit.com/pages/5ed70c2d713f890cbc006f05
instagram : https://www.instagram.com/realtimecar_magazine