TURBO แปรผันทำงานยังไง…ไปดูกัน…!!

TURBO แปรผันทำงานยังไง…ไปดูกัน…!!

          ยุคสมัยเปลี่ยนไปอะไรๆก็ต้องปรับเปลี่ยนตามกันไปด้วย กลับมาพบกันอีกเช่นเคยครับกับคอลัมน์เกร็ดความรู้คู่รถคุณ สำหรับในคอลัมน์นี้ครับเราจะพาไปทำความรู้จักกับระบบอัดอากาศหรือเทอร์โบนั่นเองครับ แต่เป็นเทอร์โบแบบแปรผัน ซึ่งหลายคนคงมีคำถามอยู่ในใจมานานแสนนานว่าไอ้เจ้าเทอร์โบแปรผันเนี่ยมันคืออะไร และมันทำงานยังไง ทำไมถึงเรียกว่าเทอร์โบแปรผัน ก็อย่างว่าแหละครับรถยนต์สมัยนี้ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋งหรือรถกระบะต่างก็มีเทอร์โบติดรถมากันแทบจะทุกรุ่นอยู่แล้ว เมื่อใช้งานมันอยู่ทุกวันก็ควรจะรู้จักมันไว้ซ้ะหน่อยว่ามันเป็นยังไง เข้าไปติดตามพร้อมๆกันเลยครับ

          ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนครับว่าแต่ละค่ายให้คำจำกัดความของเทอร์โบแปรผันว่าอะไรกันบ้าง ISUZU จะเรียกว่า VGS TURBO,TOYOTA จะเรียกว่า VN TURBO,MITSUBISHI จะเรียกว่า VG TURBO,MAZDA จะเรียกว่า VGT TURBO เรียกว่าแต่ละค่ายก็ให้คำจำกัดความที่แตกต่างกันออกไป แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ความหมายเดียวกันแหละครับ TURBO ก็เสมือนแค่ตัวอัดลมแบบธรรมดา โดยส่วนของ TURBO นั้นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนใบพัดไอดี และ ใบพัดไอเสียจะเชื่อมติดในแกนเดียวกัน โดยท่อไอเสียที่ถูกขับออกจากห้องเผาไหม้ แทนที่จะถูกปล่อยออกทางท่อไอเสียโดยตรง ก็จะถูกนำไปขับผ่านใบพัดไอเสียให้หมุน ใบพัดไอเสียนี้จะเชื่อมติดกับเพลาซึ่งมีใบพัดไอดีอยู่  อีกข้างหนึ่ง เมื่อใบพัดไอเสียหมุนเร็วขึ้นเรื่อยๆก็จะยังผลให้ใบพัดไอดีหมุนตามเร็วขึ้นเท่านั้น การหมุนของใบพัดไอดีจะดูดอากาศผ่านไส้กรองอากาศและอัดอากาศให้หนาแน่นขึ้น ก่อนอัดเข้าห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ในเครื่องยนต์เบนซินอากาศที่ถูกอัดจาก TURBO ก่อนเข้าเครื่องยนต์ จึงจำเป็นต้องทำให้อากาศเย็นตัวลงก่อน เพื่อป้องกันการจุดระเบิดก่อนเข้าห้องเผาไหม้ ดังนั้น INTERCOOLER จึงเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นในเครื่องยนต์ โดย Intercooler จะมีลักษณะเหมือนรังผึ้งหม้อน้ำ แต่ใช้อากาศภายนอกเป็นตัวช่วยถ่ายเทความร้อนของอากาศ ภายในหลอดที่ออกจาก TURBO

 

 

มาดูเรื่องของความแตกต่างระหว่าง ระบบ TURBO แปรผัน ของเครื่องยนต์เบนซิน และ เครื่องยนต์ดีเซล
          ซึ่งในส่วนของ TURBO แปรผันของเครื่องยนต์ดีเซล จะมีทั้งระบบ TURBO และ TURBO INTERCOOLER เนื่องจากชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ดีเซลมีความทนทานและแข็งแรงกว่าเครื่องยนต์เบนซิน และการทำงานของระบบเครื่องยนต์ดีเซลก็ใช้ระบบการเผาไหม้ด้วยช่วงของจังหวะ ซึ่งทำให้การอัดของลูกสูบ ซึ่งต่างจากการใช้ระบบหัวเทียนเป็นตัวจุดระเบิดในเครื่องยนต์เบนซิน ดังนั้นเครื่องยนต์ดีเซลจึงไม่จำเป็นต้องใช้ INTERCOOLER เว้นแต่ผู้ผลิตต้องการให้เครื่องยนต์มีกำลังเพิ่มขึ้นและแรงบิดเครื่องยนต์มากกว่าเดิม ก็สามารถติดตั้งระบบ INTERCOOLER เข้าไปเพิ่ม ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเพิ่มฺ BOOTS แรงอัดมากขึ้นพร้อมกับการทดการใช้เชื้อเพลิงให้มากขึ้น ก็จะตั้งระบบการจุดระเบิดที่รุนแรงมากขึ้น เป็นการเพิ่มแรงม้าและแรงบิด ทั้งนี้ชิ้นส่วนภายในจะต้องมีความแข็งมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ผู้ผลิตเครื่องยนต์ก็จะต้องลดกำลังอัดของลูกสูบ ตามไปด้วย เมื่อมีการเพิ่มกำลังอัดจาก TURBO เข้าเครื่องยนต์ ด้วยเหตุนี้ผู้ผลิตเครื่องยนต์จะมีเครื่องยนต์ให้เลือก ทั้งแบบ TURBO ธรรมดาและ TURBO INTERCOOLER

                เทอร์โบแปรผัน เป็น เทอร์โบ ที่พัฒนามาจาก เทอร์โบ ธรรมดา แต่ต่างกันตรงที่ด้านโข่งไอเสียจะมีครีบที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อเป็นการควบคุมขนาดของโข่งไอเสีย ทำให้ความเร็วของไอเสียที่จะปั่นใบพัดเทอร์โบ เหมาะสมกับเครื่องยนต์ทุกๆรอบ เพราะขนาดของโข่งไอเสียจะเป็นตัวทำให้ เทอร์โบ บูสท์มาไวหรือช้า ซึ่งแต่ก่อนโข่งไอเสียจะถูกจำกัดปริมาตรคงที่ ถ้าโข่งไอเสียเล็กก็จะทำให้เทอร์โบสามารถสร้างแรงดันได้ไว แต่พอรอบเครื่องสูงๆ จะระบายไอเสียได้ไม่ดี ทำให้กำลังเครื่องยนต์ตก ส่วนโข่งไอเสียขนาดใหญ่ ที่รอบสูงจะระบายไอเสียได้ดี แต่ที่รอบเครื่องต่ำๆ กลับสร้างแรงดันได้ช้าเพราะความเร็วของไอเสียต่ำ จากตรงนี้จึงเป็นที่มาของ เทอร์โบแปรผัน ซึ่งก็เหมือนกับมีโข่งไอเสียเล็ก-ใหญ่ในตัวเดียวกันเทอร์โบแปรผัน มีชื่อเรียกต่างๆ ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับบริษัทที่ผลิต โดยอุปกรณ์ที่ควบคุมครีบแปรผันจะมีทั้งแบบมอเตอร์ไฟฟ้า และแบบใช้สูญญากาศควบคุม

   

ข้อดีของ เทอร์โบแปรผัน
– ลดอาการรอรอบ ทำให้เครื่องยนต์มีแรงบิด และแรงม้าสูงตั้งแต่รอบต่ำ
–  การสร้างแรงบิดได้ตั้งแต่รอบต่ำ ทำให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น
–  ลดมลพิษ ไม่มีไอเสียที่เหลือปล่อยทิ้ง ทำให้ฝุ่นละอองลดลง

ข้อเสียของ เทอร์โบแปรผัน
– ราคาสูงกว่า เทอร์โบธรรมดาทั่วๆไปเพราะใช้อุปกรณ์มากกว่า
– การดูแลรักษายากกว่า เพราะมีชิ้นส่วนเพิ่มขึ้น

อาการของเทอร์โบมีปัญหาและระยะเวลาที่ควรซ่อม
เครื่องยนต์ไม่มีกำลัง ใบพัดเทอร์โบเสีย แกนเทอร์โบหลวม มีน้ำมันรั่วออกมาจาก เทอร์โบ แรงดันเทอร์โบ ผิดปกติ ซึ่งส่งผลให้ เทอร์โบ อัดอากาศเข้าเครื่องยนต์ได้น้อย ทำให้เกิดควันดำ กินน้ำมันมากผิดปกติ หรือรถที่ใช้งานมากกว่า 300,000 กม.หรือ4,000 ชั่วโมงควรมีการเปลี่ยนชุดซ่อมและบาลานซ์แกนใหม่

          เป็นยังไงกันบ้างครับกับเรื่องราวของเทอร์โบแปรผัน เข้าใจกันแล้วใช่ไหมครับว่าการทำงานของเทอร์โบชนิดนี้มันมีความแตกต่างยังไงกับเทอร์โบธรรมดา คอลัมน์ต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรนั้นต้องคอยติดตามกันต่อไปครับ สวัสดีครับ..